ไม้เถาล้มลุก มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบย่อยมี 5–7 ใบ ก้านใบยาว 1.5–3 ซม. หูใบรูปเส้นด้าย ยาว 2–5 มม. หูใบย่อยคล้ายติ่งแหลม แผ่นใบรูปรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2.5–6.5 ซม. ปลายมน เว้าตื้น มีติ่งแหลม โคนมน แผ่นใบบาง มีขนสั้นนุ่มด้านล่างหรือเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 4–5 เส้น ก้านใบย่อยยาว 1–2 มม. ช่อดอกมีดอกเดียว ใบประดับบาง กลีบเลี้ยงยาว 1.5–2 ซม. เชื่อมติดกันน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง กลีบดอกสีม่วง ชมพู หรือขาว ยาวได้ถึง 5.5 ซม. กลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 3 ซม. กลางกลีบมักมีปื้นขาว กลีบคู่ข้างรูปรี กลีบปีกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รังไข่มีขน ฝักรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 5–13 ซม. แบน ปลายมีจะงอยยาว มี 6–10 เมล็ด สีดำ รูปรี ยาวประมาณ 6 มม.
ถิ่นกำเนิดไม่ทราบแน่ชัด พบเป็นวัชพืชหรือปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน บางครั้งพบดอกซ้อน ดอกกินสดหรือชุบแป้งทอด นำไปคั้นให้สีใช้ผสมอาหาร น้ำดื่มแก้กระหาย หรือฟอกผมให้เงางาม ราก ใบ และดอกมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบปราสาท และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
|