ไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดิน สูง 1–3 ม. บางครั้งแตกกิ่ง ใบเรียงเวียน ใบด้านล่างมักลดรูป ใบช่วงบนรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 15–23 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลม แผ่นใบด้านล่างมีขนยาวคล้ายไหมหนาแน่น ก้านใบยาว 5–7 มม. ช่อดอกออกที่ยอด รูปรี ยาว 10–15 ซม. ก้านช่อสั้น ใบประดับสีเขียวหรือน้ำตาลอมแดง รูปไข่ ปลายแหลม ยาว 1.2–2 ซม. แต่ละใบประดับมีดอกเดียว ใบประดับย่อยขนาดเล็กกว่าใบประดับ ขอบมีขนครุย หลอดกลีบเลี้ยงยาวได้ถึง 2 ซม. ปลายแยกเป็น 3 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน สีแดง ปลายกลีบมีขนยาวคล้ายไหม หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1 ซม. กลีบดอกสีขาวหรืออมชมพู รูปรี ยาว 3–5 ซม. กลีบปากแผ่ออกคล้ายรูปแตร ยาว 6.5–9 ซม. กว้าง 5.5–7.5 ซม. ด้านในมีปื้นสีเหลือง เกสรเพศผู้ยาว 2.5–4.5 ซม. ก้านแผ่กว้าง 1–1.2 ซม. โคนมีปื้นสีเหลือง มีขนสั้นนุ่ม ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดสีดำ ขนาดเล็ก
พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่าหรือในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร คล้ายกับเอื้องหมายนาชนิด Cheilocostus lacerus (Gagnep.) C.D.Specht ที่ใบประดับเรียงหนาแน่นเป็นช่อกว้าง ในช่อแก่ปลายใบประดับเป็นเส้นใย
|
ชื่อพ้อง Banksea speciosa J.Koenig, Costus speciosus (J.Koenig) Sm.
|
|
ชื่อสามัญ Cane reed, Crape ginger, Spiral flag
|
ชื่ออื่น ชู้ไลบ้อง, ซูเลโบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); บันไดสวรรค์, เอื้องใหญ่(ภาคใต้); เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช); เอื้องต้น (ยะลา) ; เอื้องเพ็ดม้า(ภาคกลาง); เอื้องหมายนา (ทั่วไป)
|
|
เอื้องหมายนา: ใบเรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ใบประดับสีเขียวหรือน้ำตาลอมแดง ปลายแหลม กลีบปากแผ่ออกคล้ายรูปแตร ด้านในมีปื้นสีเหลือง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
|
|