สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เอื้องหมายนา  สกุล
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Cheilocostus C.D.Specht

Costaceae

ไม้ล้มลุก สูงมากกว่า 1 ม. เหง้าแผ่ออกด้านข้าง มีหัวใต้ดิน ลำต้นตั้งตรงหรือเรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดหรือออกจากเหง้า ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม หนา ปลายแหลมคล้ายหนาม มี 1–2 ดอกในแต่ละใบประดับ ใบประดับย่อยเป็นหลอดบาง กลีบเลี้ยงแยกเป็น 3 กลีบ ปลายแหลมคล้ายหนาม กลีบดอก 3 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอด ยื่นพ้นหลอดกลีบเลี้ยง กลีบบาง กลีบปากแผ่เป็นแผ่นขนาดใหญ่รูปไข่กลับ เกสรเพศผู้มีอันเดียว ก้านชูอับเรณูแผ่เป็นแผ่น โคนเชื่อมติดกลีบปาก ปลายพับงอกลับ อับสปอร์สองแบบ (bisporangiate) ติดใต้ปลายแผ่น แตกตามยาว ก้านเกสรเพศเมียอยู่ระหว่างอับสปอร์ รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3 ช่อง ยอดมีต่อมน้ำต้อย พลาเซนตารอบแกนร่วม ออวุลจำนวนมาก เรียง 2 แถว ยอดเกสรเพศเมียจัก 2 พู รูปถ้วย ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีขาว

สกุล Cheilocostus แยกออกมาจากสกุล Costus สกุลย่อย Eucostus ตามลักษณะกลีบปากแผ่เป็นแผ่นกว้าง ใบประดับแข็ง ส่วนสกุล Costus กลีบปากเป็นหลอด ใบประดับบาง ปลายไม่แหลมคล้ายหนาม พบในอเมริกาเขตร้อนและแอฟริกา ส่วนสกุล Cheilocostus พบเฉพาะในเอเชียเขตร้อน มีความใกล้ชิดกับสกุล Tapeinochilos จำนวนชนิดยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะกลุ่ม เอื้องดิน Cheilocostus globosus (Blume) C.D.Specht ที่ยังมีความสับสนในการจำแนก รวมถึง Costus dhaninivatii K.Larsen และ Costus tonkinensis Gagnep. จึงยังไม่ได้ยุบให้อยู่ภายใต้สกุล Cheilocostus อย่างเป็นทางการ ในไทยอาจมี 3–5 ชนิด ส่วนที่พบเป็นไม้ประดับอยู่ภายใต้สกุล Costus และ Tapeinochilos ที่พบในภูมิภาคมาเลเซียและนิวกินี มี 3–4 ชนิด เช่น เอื้องหมายนาดอกแดง C. woodsonii Maas เอื้องหมายนาดอกเหลือง C. varzearum Mass และขิงอินโดนีเซีย T. ananassae (Hassk.) K.Schum. เป็นต้น ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “cheilos” กลีบปาก และชื่อสกุล Costus

เอื้องหมาย:สกุล Costus และสกุล Tapeinochilos (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. (2008). Costaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(2): 101–106.

Specht, C.D. and D.Wm. Stevenson. (2006). A new phylogeny-based generic classification of Costaceae (Zingiberales). Taxon 55(1): 153–163.