ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2.5 ม. เหง้าใต้ดินแตกแขนง ใบเรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก สีเขียวหรืออมม่วง ยาว 30–60 ซม. ก้านใบสั้น กาบใบสีเขียวหรือม่วง ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อวงแถวเดี่ยว มี 1–2 ดอก ใบประดับรูปไข่ยาว 6–9 มม. ดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบนอก 3 กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ 1.5 ซม. ติดทน กลีบใน 3 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอดสีเหลืองอมส้ม แนบติดเกสรเพศผู้และเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน หลอดกลีบยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบรูปใบหอก ยาวประมาณ 4 ซม. สีแดงหรือเหลืองอมส้ม แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 2–3 แผ่น สีแดง โคนสีเหลืองอมส้ม รูปใบหอกกลับ ยาว 4–5.5 ซม. มีหนึ่งแผ่นปลายเว้า กลีบปากสีแดงหรือมีจุดเหลือง รูปใบหอก ยาวประมาณ 4.5 ซม. ขอบม้วนงอ ปลายเว้าตื้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านชูอับเรณูรูปใบหอก ยาวประมาณ 4 ซม. อับเรณูมีช่องเดียว ยาวประมาณ 9 มม. รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3 ช่อง มีปุ่มกระจาย พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 6 ซม. โคนเชื่อมติดเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ผลแห้งแตกเป็น 3 ส่วน รูปไข่กว้าง ยาว 1.2–2 ซม. มีปุ่มหนาแน่น เมล็ดกลม มีหลายเมล็ด
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน เป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อแห่งชาติของไทย เหง้ากินได้ บางครั้งจึงเรียกว่าพุทธรักษากินหัว มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง เมล็ดใช้ทำเครื่องประดับ
สกุล Canna L. เป็นพืชสกุลเดียวของวงศ์ มีประมาณ 10 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาเขตร้อน ในไทยมีชนิดเดียว ที่พบส่วนมากเป็นลูกผสม Canna × generalis L.H.Bailey มีหลากสี หลายสายพันธุ์ รวมทั้งพันธุ์แคระ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kanna” หมายถึงพืชพวกที่มีลำต้นเป็นปล้อง
|
ชื่อพ้อง Canna orientalis Roscoe
|
|
ชื่อสามัญ Australian arrowroot, Edible Canna, Indian shot
|
ชื่ออื่น บัวละวง (ลพบุรี); ปล้ะย่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); พุทธรักษา (ภาคกลาง); พุทธรักษากินหัว (กรุงเทพฯ); พุทธสร (ภาคเหนือ); สาคูมอญ (ภาคกลาง); สาคูหัวข่า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); อะตาหลุด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
|
|
พุทธรักษา: ช่อดอกออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อวงแถวเดี่ยว มี 1–2 ดอก ดอกสมมาตรด้านข้าง ดอกมีหลากสีในพันธุ์ผสม ผลแห้งแตก มีปุ่มหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|