| | Calophyllum inophyllum L. |
|
ไม้ต้น มักสูงไม่เกิน 15 ม. ชันสีเหลืองอมเขียว ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 8–15 ซม. ปลายกลมหรือเว้าตื้น แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบจำนวนมาก ก้านใบยาว 1–3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1.5–4 ซม. กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มีจำนวนอย่างละ 4 กลีบ สีขาว กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 8 มม. คู่นอกกลม คู่ในรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 1–1.2 ซม. ปลายกลม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 4–5 มม. อับเรณูสีเหลือง ก้านเกสรเพศเมียยาว 6–7 มม. ยอดเกสรรูปโล่ ผลสด มีเมล็ดเดียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. สุกสีเหลือง เมล็ดขนาดใหญ่
พบที่แอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไห่หนาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายหาด ชายป่าใกล้ชายฝั่งทะเล ความสูงระดับต่ำ ๆ เป็นไม้ประดับให้ร่มเงา ดอกมีกลิ่นหอม เมล็ดให้น้ำมัน เรียกว่า Tamanu oil ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเป็นสมุนไพร
สกุล Calophyllum L. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Clusiaceae ปัจจุบันแยกมาอยู่ในวงศ์เดียวกับสกุล Mammea และ Mesua และอีกกว่า 10 สกุล ในไทยมี 17 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kalos” สวยงาม และ “phyllon” ใบ ตามลักษณะของใบ
| | | ชื่อสามัญ Alexandrian laurel, Beach Calophyllum, Borneo mahogany
| ชื่ออื่น กระทิง, กระทึง, กากระทึง, กากะทึง (ภาคกลาง); ทิง (กระบี่); เนาวกาน (น่าน); สารภีทะเล (ประจวบคีรีขันธ์); สารภีแนน (ภาคเหนือ)
| | กระทิง: ใบเรียงตรงข้าม เส้นแขนงใบจำนวนมาก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายกัน สีขาว เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลสด ปลายมีติ่งแหลม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|