Index to botanical names
Bixaceae
ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 8 ม. มียางสีแดง มีขนและต่อมรูปโล่สีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามกิ่ง กลีบเลี้ยง และช่อดอก หูใบร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือรูปหัวใจ ยาว 7.5–25 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 2 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 12 ซม. ปลายก้านบวม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว 8–10 ซม. บานครั้งละ 1–2 ดอก ใบประดับร่วงเร็ว มีรอยคล้ายเกล็ด ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 ซม. โคนมีต่อม ดอกสีขาวหรือชมพู มี 4–7 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กลับ ขนาดไม่เท่ากัน ยาว 1.5–4 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.5 ซม. ผลแห้งแตก รูปรี ยาว 2–4.5 ซม. มีขนแข็งสีแดงหนาแน่น ยาว 1–2 ซม. เมล็ดมีปุยสีแดงหุ้มมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เป็นไม้ประดับ ผลใช้ทำเป็นสีผสมอาหารและเครื่องอุปโภคหลายชนิด เปลือกหุ้มเมล็ดให้สารสีแดง bixa ละลายในน้ำมันได้ ใช้ทำสีย้อม เมล็ดบดใช้ระบายเป็นสีทาร่างกายและเป็นเครื่องปรุง สกุล Bixa L. มี 5 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน ชื่อสกุลมาจากภาษาบราซิลเลี่ยน “biche” ที่เรียกต้นไม้ชนิดนี้ ส่วนคำระบุชนิดตั้งตามนักสำรวจลุ่มน้ำอเมซอนชาวเสปน ในช่วงศตวรรษที่ 16 Francisco de Orellana
ชื่อสามัญ Achiote, Anatto tree, Lipstick tree
ชื่ออื่น คำเงาะ, คำแงะ, คำไทย, คำแฝด (กรุงเทพฯ); คำยง (เขมร); คำแสด (กรุงเทพฯ); จำปู้, ชาด (ภาคใต้); ชาตี (เขมร); ซิติหมัก (เลย); มะกายหยุม (ภาคเหนือ); ส้มปู้ (เขมร-สุรินทร์); แสด (ภาคเหนือ); หมากมอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
คำเงาะ: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง บานทีละ 1–2 ดอก กลีบดอกขนาดไม่เท่ากัน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลแห้งแตกมีขนแข็งสีแดงหนาแน่น (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Backer, C.A. (1951). Bixaceae. In Flora of Malesiana Vol. 4: 239–241.
Yang, Q. and M.G. Gilbert. (2007). Bixaceae. In Flora of China Vol. 13: 71.