ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. แยกเพศร่วมต้น เปลือกลอกเป็นแผ่นบาง ๆ ตายอดมีเกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อมหนาแน่น มีต่อมชันและขนยาวหนาแน่นตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ และก้านช่อดอก ใบเรียงเวียน รูปไข่ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 4–14 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 1.5–4 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ห้อยลง รูปทรงกระบอก ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม ปลายจัก 3 พู แต่ละใบประดับมี 3 ดอก ใบประดับย่อย 1 คู่ ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คล้ายเกล็ดรูปแถบ ช่อดอกเพศผู้ออกเดี่ยว ๆ ออกก่อนผลิใบ ยาวได้ถึง 20 ซม. เกสรเพศผู้ 2 อัน อับเรณูเชื่อมติดกัน ช่อดอกเพศเมียมี 2–5 ช่อ เรียงแบบช่อกระจะสั้น ๆ ที่โคน ยาว 5–10 ซม. ใบประดับยาวประมาณ 3 มม. มีขนสั้นนุ่ม โคนคล้ายฟองน้ำ พูกลางรูปขอบขนาน พูข้างรูปเป็นติ่ง รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง ออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 2 อัน ติดทน ผลแห้งเมล็ดล่อน แบน รูปไข่กลับ ยาว 1.5–2 มม. มีปีกบาง ๆ ส่วนมากมีเมล็ดเดียว
พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีน ลาว และเวียดนาม ในไทยพบกระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย เพชรบูรณ์ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี และที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1000–1600 เมตร เปลือกนอกบางใช้ทำกระดาษ เปลือกชั้นในน้ำมันมีกลิ่นหอม มีสรรพคุณคล้ายน้ำมันมวย หรือใช้เคลือบหนัง
สกุล Betula L. หรือ birch แยกเป็นหลายสกุลย่อย มีประมาณ 60 ชนิด ส่วนมากเป็นพืชในเขตอบอุ่น พบทางซีกโลกเหนือทั้งอเมริกาและยุโรป และเอเชีย พบน้อยในอเมริกาใต้ ในไทยอาจมีมากกว่าหนึ่งชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “betula” ที่ใช้เรียกพืชพวก birch tree
|