ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบรูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5–26 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนสอบเรียว แผ่นใบหนา ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ 10–20 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะห้อยลง ยาวได้ถึง 70 ซม. ก้านดอกสั้น หรือยาวได้ถึง 1 ซม. ฐานดอกยาว 1–4 มม. กลีบเลี้ยงรูปรีกว้าง ยาว 3–5 มม. ดอกสีชมพูหรืออมแดง กลีบรูปกลมหรือรูปใบพาย ยาว 0.5–1 ซม. เกสรเพศผู้เรียง 3 วง วงนอกยาวได้ถึง 2.5 ซม. วงในยาว 3–6 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–2 ซม. ผลรูปรีแคบ รูปไข่ หรือเกือบกลม ยาว 2–6 ซม. ส่วนมากมีสันหรือครีบ 4–8 สัน มีเมล็ดเดียว รูปไข่ ยาว 1–4 ซม.
พบที่อินเดีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคมาเลเซีย นิวกินี ออสเตรเลียตอนบน และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามริมน้ำ ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร บางครั้งแยกเป็น subsp. spicata (Blume) Payens ดอกไร้ก้าน ผลรูปกลม สันเป็นเหลี่ยม ไม่พบในเอเชียใต้ และออสเตรเลีย
|
ชื่อพ้อง Eugenia acutangula L.
|
|
ชื่อสามัญ Indian oak, Itchy tree
|
ชื่ออื่น กระโดนทุ่ง, กระโดนน้ำ (หนองคาย); กระโดนสร้อย (พิษณุโลก); จิ๊ก (กรุงเทพฯ); จิกนา (ภาคใต้); จิกน้ำ (สตูล, ภาคกลาง); ตอง, ปุยสาย (ภาคเหนือ); ลำไพ่ (อุตรดิตถ์)
|
|
จิกน้ำ: ขอบใบจักฟันเลื่อย ช่อดอกแบบช่อกระจะห้อยลง เกสรเพศผู้เรียง 3 วง ผลรูปรีแคบ มีสันหรือครีบ (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
|
|