Index to botanical names
Acanthaceae
ไม้พุ่ม สูง 1–1.5 ม. มีขนแข็งเอนตามลำต้น แผ่นใบด้านล่าง และใบประดับ ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 5.5–15 ซม. ปลายแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนเรียวสอบ ก้านใบยาวได้ถึง 3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อเชิงลดสั้น ๆ ใบประดับและใบประดับย่อยเรียงหนาแน่น รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 1–2 ซม. ปลายแหลม กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนเหลื่อม คู่นอกรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 1–3 ซม. ขอบจักถี่เป็นติ่งหนาม ปลายแหลมยาว กลีบคู่ในแคบและสั้นกว่า ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน หลอดกลีบยาว 2–4 ซม. กลีบบน 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 2–3 ซม. กลีบคู่ในแคบกว่า กลีบล่างรูปรีกว้าง เกสรเพศผู้อันสั้น 2 อัน อันยาว 2 อัน อันยาวยื่นเลยปากหลอดกลีบ อับเรณูยาว 3–4 มม. รังไข่เกลี้ยง ผลรูปรีแคบ ยาว 1.5–2 ซม. มี 4 เมล็ด แบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. มีขน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ อังกาบ, สกุล)พบที่อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทั่วทุกภาค ภาคใต้จนถึงชุมพร ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา หรือตามเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร มีสรรพคุณยั้บยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย แก้อักเสบ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ คล้ายกับอังกาบ B. cristata L.
ชื่อสามัญ Barleria
ชื่ออื่น กวางหีแฉะ (สุโขทัย); กำแพงใหญ่ (เลย); ขี้ไฟนกคุ่ม (ปราจีนบุรี); เทิ่งดี (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); สังกรณี (ภาคกลาง); หญ้าหงอนไก่, หญ้าหัวนาค (ภาคเหนือ)
สังกรณี: ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ใบประดับและใบประดับย่อยเรียงหนาแน่น กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนเหลื่อม กลีบดอกบน 4 กลีบ กลีบคู่ในแคบกว่า เกสรเพศผู้อันยาวยื่นเลยปากหลอดกลีบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
Bremekamp, C.E.B. (1961). Scrophulariaceae, Nelsonieae, Thunbergiaceae, Acanthaceae. Dansk Botanisk Arkiv 20(1): 65.
Hu, J.Q. and T.F. Daniel. (2011). Acanthaceae (Barleria). In Flora of China Vol. 19: 469.