| ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 เมตร เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง มีขนสั้นนุ่ม กิ่งมักลู่ลง ใบเรียงเวียนเป็นกระจุก รูปเข็ม หนา แบน ยาว 3–8 มม. โคนเป็นครีบ เส้นใบไม่ชัดเจน ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงรูปลำโพงแคบ หลอดกลีบยาวประมาณ 3 มม. ปลายแยก 5 กลีบ ยาวประมาณ 1 มม. ปลายมน ดอกสีขาวหรืออมชมพู มี 5 กลีบ รูปรีกว้างเกือบกลม ยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้ 8–10 อัน แกนอับเรณูปลายมีรยางค์เป็นต่อม รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2–5 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1–1.5 มม. ยอดเกสรกลม จานฐานดอกรูปถ้วย ยาวประมาณ 1 มม. ผลแห้งแตก คล้ายครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 มม. กลีบเลี้ยงและเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปคล้ายไตเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 มม.
พบที่อินเดีย พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกีนี ในไทยพบตามป่าชายหาด ป่าเสม็ด และยอดเขาที่เป็นหินทรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือตามที่โล่งบนยอดเขาทางภาคใต้ ความสูงถึงประมาณ 1800 เมตร ใบใช้ชงเป็นชาดื่มแก้ไข้ปวดเมื่อยร่างกาย น้ำมันที่ได้จากการกลั่นสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นคล้ายลาเวนเดอร์ ใช้ทำธูปและสบู่
สกุล Baeckea L. มีประมาณ 70 ชนิด ส่วนใหญ่พบในออสเตรเลีย และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน Abraham Bäck (1713–1795) เพื่อนของ Carl Linnaeus
| | | ชื่อสามัญ Weeping Baeckea, Weeping coast myrtle
| ชื่ออื่น ก้านถินแดง, สนนา (ปัตตานี, สุราษฎร์ธานี); จอแลงอาต๊ะ, ปอโฮ่งรุห์ (มาเลย์-นราธิวาส); สนทราย, สนเทศ (ปัตตานี); สนสร้อย (นครศรีธรรมราช); สนหอม (จันทบุรี); เสียวน้อย (อุบลราชธานี)
| | สนทราย: ใบรูปคล้ายเข็มเรียงเวียนเป็นกระจุก ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ฐานดอกรูปถ้วย ดอกสีขาว กลีบกลม กลีบเลี้ยงและเกสรเพศเมียติดทน (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ปรีชา การะเกตุ)
|
|
|