ไม้พุ่มหรือไม้ต้น เปลือกในบางมีเส้นใยเหนียว ใบเรียงเวียน ช่อดอกส่วนมากแบบช่อซี่ร่ม ออกสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านดอกเป็นข้อ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันที่โคน มี 5 กลีบ ติดทน กลีบดอก 10 กลีบ เป็นแผ่นเกล็ดคล้ายรยางค์ แยกหรือเชื่อมติดกันที่โคนเป็นวงที่ปากหลอดกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดระหว่างกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นหรือไร้ก้าน อับเรณูรูปแถบ ติดด้านหลัง รังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก เปลือกหนา มี 1–2 เมล็ด ติดบนกระจุกขั้ว
สกุล Aquilaria มีประมาณ 15 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 5 ชนิด อีก 3 ชนิด ได้แก่ จะแน A. hirta Ridl. พบทางภาคใต้ตอนล่าง A. rugosa K.Le-Cong & Kessler พบตามที่สูงทางภาคเหนือ และกำแย A. subintegra Ding Hou พบทางภาคใต้ แทบทุกชนิดเนื้อไม้ทนปลวก มีกลิ่นหอมเมื่อมีเชื้อรา Cystosphaera mangiferae Died. ทำให้เกิดสีดำ เรียกว่า กฤษณา นำมาเผาไฟอบห้องให้กลิ่นหอมหรือกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย ผงกฤษณาใช้ผสมยาสมุนไพร กฤษณาทุกชนิดรวมถึงกฤษณาน้อย (Gyrinops spp.) อยู่ในบัญชีที่ 2 ของ CITES ชื่อสกุลในภาษาละตินหมายถึงนกอินทรี เป็นที่มาของชื่อสามัญ eaglewood
|