ไม้ล้มลุก หัวใต้ดินกลม แบน ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางโตได้ถึง 50 ซม. ใบประกอบแยกแขนง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.3–3 ม. แกนใบประกอบมีปีก ใบย่อยรูปรี ถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 3–35 ซม. ปลายแหลมยาว ก้านใบยาว 0.3–2 ม. มีตุ่มกระจาย ก้านช่อยาว 3–20 ซม. กาบรูประฆังกว้าง สีเขียวอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม มีจุดสีอ่อนกระจาย โคนด้านในมีตุ่มหนาแน่น กาบยาว 10–45 ซม. กว้าง 15–60 ซม. ขอบย่น โคนม้วนเข้า ช่อดอกสั้นหรือยาวกว่ากาบ ยาว 7–70 ซม. ไร้ก้าน ช่วงดอกเพศผู้ช่วงโคนยาว 2.5–15 ซม. ช่วงปลายยาว 1–20 ซม. เกสรเพศผู้มี 4–6 อัน ยาว 4–6 มม ปลายช่อเป็นรยางค์รูปไข่ กลม หรือรูปพีระมิด ยาวได้ถึง 30 ซม. ช่วงดอกเพศเมียยาว 3–25 ซม. รังไข่กลม แบน กว้าง 3–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.3–1.5 ซม. ยอดเกสรรูปไข่แกมสามเหลี่ยม แบน ยาว 4–7 มม. จัก 2–3 พู ช่อผลรูปทรงกระบอก ยาว 10–50 ซม. ก้านช่อขยายยาว 0.2–1 ม. ผลย่อยรูปรี ยาว 1.5–2 ซม. สุกสีแดง
พบที่มาดากัสการ์ อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และชายป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร ทั้งต้นมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง ใช้เลี้ยงสัตว์ หัวใต้ดินมีแป้งใช้ปรุงอาหาร หัวและใบอาจทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นแดง
|
ชื่อพ้อง Dracontium paeoniifolium Dennst., Amorphophallus rex Prain
|
|
ชื่อสามัญ Elephant yam, Stanley’s water-tub
|
ชื่ออื่น บุกคางคก (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); บุกคุงคก (ชลบุรี); บุกหนาม, บุกหลวง, เบีย, เบือ (แม่ฮ่องสอน); มันซูรัน (ภาคกลาง); หัวบุก (ปัตตานี)
|
|
บุกคางคก: หัวใต้ดินกลม แบน ๆ กาบรูประฆังกว้าง ขอบย่น ปลายช่อเป็นรยางค์รูปไข่ หรือรูปพีระมิด ช่อผลรูปทรงกระบอก ก้านช่อขยายยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|