Index to botanical names
Apocynaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. กิ่งมีช่องอากาศ หูใบคล้ายเป็นติ่งที่ซอกก้านใบ ใบเรียงเป็นวง 4–10 ใบ รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบพาย ยาว 4–32 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนรูปลิ่มหรือเป็นครีบ เส้นใบตรงจำนวนมาก ก้านใบยาว 0.7–1.5 ซม. ช่อดอกแน่นเป็นกระจุก ยาว 3–8.5 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–2 มม. มีขนสั้นนุ่มและขนครุย กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบยาว 0.5–1 ซม. กลีบรูปรี ยาว 2–5 มม. เกสรเพศผู้ติดเหนือกึ่งกลางหลอดกลีบ จานฐานดอกเป็นต่อมแยกกัน คาร์เพลมีขน เกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. ผลออกเป็นฝักคู่ รูปแถบ ยาว 20–55 ซม. เมล็ดรูปขอบขนาน ยาว 4–8 มม. ขนครุยยาว 1–2 มม.พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูง 100–1200 เมตร เปลือกและใบแก้ปวดหัว แก้ไข้ หลอดลมและปอดอักเสบ
ชื่อพ้อง Echites scholaris L.
ชื่อสามัญ Blackboard tree, Devil tree, Indian devil tree, Milkwood pine, White cheesewood
ชื่ออื่น กะโน้ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); จะบัน (เขมร-ปราจีนบุรี); ชบา, ตีนเป็ด (ภาคกลาง); ตีนเป็ดดำ (นราธิวาส); บะซา, ปูลา, ปูแล (ปัตตานี, มาเลย์-ยะลา); พญาสัตบรรณ (ภาคกลาง); ยางขาว (ลำปาง); สัตบรรณ (ภาคกลาง, เขมร-จันทบุรี); หัสบรรณ (กาญจนบุรี)
ตีนเป็ด: หูใบคล้ายเป็นติ่งที่ซอกก้านใบ ใบเรียงเป็นวง โคนรูปลิ่มหรือเป็นครีบ ช่อดอกแน่นเป็นกระจุก ปากหลอดกลีบดอกมีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Li, B., A.J.M. Leeuwenberg and D.J. Middleton. (1995). Apocynaceae. In Flora of China Vol. 16: 154–156.
Middleton, D.J. (1999). Apocynaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 41–48.