Index to botanical names
Zingiberaceae
ไม้ล้มลุก เหง้าสั้น ลำต้นสูงได้ถึง 1.8 ม. ลิ้นใบคล้ายกาบ ยาว 5–6 มม. ใบเรียงสลับระนาบเดียว มี 5–10 ใบ รูปขอบขนาน ยาว 16–28 ซม. ใบช่วงโคนและปลายขนาดเล็ก ปลายกลมมีติ่งแหลม โคนกลมหรือรูปลิ่ม แผ่นใบมีขนตามเส้นกลางใบและขอบใบ ไร้ก้านหรือมีก้านยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอด ตั้งขึ้น ยาว 12–30 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5–15 ซม. ใบประดับรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 1–1.8 ซม. แต่ละใบประดับมี 2–3 ดอก ใบประดับย่อยรูประฆัง ยาว 0.7–1 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแยก 3 แฉก ดอกสีขาว กลีบดอกและหลอดกลีบยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง กลีบหลังรูปขอบขนาน ยาว 1.3–1.5 ซม. กลีบคู่ข้างสีเหลืองมีปื้นแดง กลีบปากสีเหลือง กลางกลีบมีปื้นและเส้นกลีบสีแดง แผ่นกลีบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายแฉกลึกเกือบจรดโคน แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่กลับ มีจุดสีแดงกระจาย ปลายจัก ยาวประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่มีขนสั้นนุ่มพืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า หรือลานหินทรายใกล้แหล่งน้ำ ในป่าเต็งรัง ความสูง 200–300 เมตรสกุล Alpinia Roxb. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Alpinioideae มีประมาณ 200 ชนิด พบในเอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยเป็นพืชพื้นเมืองประมาณ 18 ชนิด เป็นไม้ต่างประเทศหลายชนิด รวมถึงข่า A. galanga (L.) Willd. หลายชนิดพบเป็นไม้ประดับ ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาลี Prospero Alpino (1553–1617)
ข่าทราย: ช่อกระจุกแยกแขนงออกที่ยอด ตั้งขึ้น ๆ กลีบปากสีเหลือง มีปื้นแดงกลางกลีบ แผ่นกลีบรูปสามเหลี่ยม แฉกลึกเกือบจรดโคน แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่กลับ มีจุดแดงกระจาย ปลายจัก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
Chaveerach, A., P. Mokkamul, R. Sudmoon and T. Tanee. (2008). A new species of Alpinia Roxb. (Zingiberaceae) from northeastern Thailand. Taiwania, 53(1): 1–5.