Index to botanical names
Actinidiaceae
ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งเกลี้ยง มีช่องอากาศ ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 6–16 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ 6–7 เส้น เส้นใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 1–3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบหรือตามกิ่ง มีดอกเดียวหรือ 2–5 ดอก ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกยาวได้ถึง 2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 4–5 มม. ติดทน ขอบมีขนครุย ดอกสีขาวหริืออมแดง มี 5 กลีบ รูปไข่หรือเกือบกลมเรียงซ้อนเหลื่อม ยาว 0.7–1 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 1–3.5 ซม. อับเรณูสีเหลือง โคนรูปเงี่ยง ไม่มีจานฐานดอก คาร์เพลจำนวนมากเชื่อมติดกัน มีขนสั้นนุ่ม ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียเท่าจำนวนคาร์เพล แผ่เป็นรัศมีกระจาย ยาวได้ถึง 3 มม. ผลสดรูปไข่หรือเกือบกลม ยาว 1.5–2 ซม. มีช่องอากาศกระจาย ผนังชั้นในฉ่ำ เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมากพบที่จีนตอนใต้ และภาคเหนือของไทยที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1600–1850 เมตรสกุล Actinidia Lindl. มีประมาณ 55 ชนิด พบในเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่มีมากกว่า 50 ชนิด ในไทยมีพืชพื้นเมือง 2 ชนิด อีกชนิดคือ A. latifolia (Gardner & Champ.) Merr. ดอกจำนวนมากกว่า และผลขนาดใหญ่กว่า ส่วนกีวีที่เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นชนิด A. deliciosa (A.Chev.) C.F.Liang & A.R.Ferguson ซึ่งถูกนำเข้าไปในนิวซีแลนด์จนกลายเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อ และถูกเรียกว่า Kiwi fruit ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aktin” รัศมี ตามลักษณะการติดของก้านเกสรเพศเมีย
กีวีป่า: กิ่งเกลี้ยง มีช่องอากาศ ใบเรียงเวียน ปลายแหลมหรือแหลมยาว ขอบจักฟันเลื่อย ผลมีช่องอากาศ กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Keng, H. (1972). Actinidiaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 139–140.
Li, J., X. Li and D.D. Soejarto. (2007). Actinidiaceae. In Flora of China Vol. 12: 334, 341.