Index to botanical names
Fabaceae
ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่มตามยอดอ่อน ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบประกอบ 2 ชั้น แกนใบประกอบยาว 10–60 ซม. มีขนละเอียด ก้านใบยาว 5–20 ซม. ใบประกอบย่อยมี 3–5 คู่ ใบย่อยมี 4–9 คู่ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 2–15 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนรูปลิ่มกว้างถึงกลม เบี้ยว ก้านใบสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ 1–3 ช่อ ยาว 20–25 ซม. ก้านดอกยาว 6–8 มม. ฐานดอกรูประฆัง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ปลายมน ยาว 3–4 มม. ดอกสีแดง มี 5 กลีบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 0.6–1 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดระหว่างกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสีเหลืองอมแดง ยาวประมาณ 2 เท่าของกลีบดอก อับเรณูติดไหว รังไข่มีก้านยาว ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรขนาดเล็ก ฝักแบน เรียวแคบ ยาว 8–15 ซม. ปีกกว้าง 3–5 มม. เมล็ดรูปไข่ แบน ยาว 5–7 มม.พบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน สุมาตรา และชวา ในไทยพบกระจายห่าง ๆ แทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้งตามสันเขาหรือริมลำธาร ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร นิยมปลูกเป็นไม้สวนป่าในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเขตร้อนสกุล Acrocarpus Wight ex Arn. อยู่วงศ์ย่อย Caesalpinioideae เผ่า Caesalpinieae มีชนิดเดียว พบในเอเชียเขตร้อน ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “akros” ยอดหรือตอนปลายสุด และ “karpos” ผล ตามลักษณะผลที่ออกที่ปลายกิ่ง หรือรังไข่และผลมีก้านยาว
ชื่อสามัญ Acrocarpo, Pink cedar, Red cedar, Shingle tree
ชื่ออื่น ก้วยกี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); กางขี้มอด, ยมหิน (เชียงใหม่); ไก่ (กำแพงเพชร); ขางช้าง, ขางแดง (ลำปาง); แดงน้ำ, พระเจ้าห้าพระองค์ (ลำปาง, แพร่); สะเดาช้าง (ปราจีนบุรี); แสงตะล่อน, หอนนาค (เลย)
สะเดาช้าง: ใบประกอบ 2 ชั้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ 1–3 ช่อ (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 50.