สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เหงือกปลาหมอ  สกุล
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561

Acanthus L.

Acanthaceae

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ไม้พุ่ม หรือไม้เถา มักมีหนามคล้ายเป็นหูใบตามข้อ ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบเชิงลด ใบประดับ 1 อัน รูปไข่ ขอบเรียบหรือจักเป็นหนาม ใบประดับย่อยมี 1 คู่ หรือไม่มี กลีบเลัี้ยง 2 คู่ รูปไข่ คู่ในขนาดเล็กและสั้นกว่า ดอกรูปปากเปิด หลอดกลีบดอกสั้น กลีบปากล่างบานออก จัก 3 พู ตื้น ๆ กลีบปากฝ่อ เกสรเพศผู้ 2 คู่ ติดใกล้ปากหลอดกลีบดอก ล้อมรอบเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูหนา อับเรณูมีพูเดียว มี 2 ช่อง รูปแถบ มีขนเครา รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก ผลแห้งแตก รูปรี มี 4 เมล็ด แบน ติดบนต่อมเป็นตะขอ

สกุล Acanthus L. มีประมาณ 30 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ในไทยมีพืชพื้นเมือง 3–4 ชนิด ซึ่ง A. ebracteatus Vahl คล้ายกับ A. ilicifolius L. แต่ไม่มีใบประดับย่อย ซึ่งอาจมีขนาดเล็กและร่วงเร็ว ส่วน A. leucostachyus Wall. ex Nees ใบประดับขอบแหลมคล้ายหนาม และ A. volubilis Wall. เป็นไม้เถา นอกจากนี้ ยังพบที่นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ คือ เหงือกปลาหมอเทศ A. montanus (Nees) T.Anderson มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก ใบประดับขอบจักเป็นหนามแหลม ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “akanthos” พืชมีหนาม

เหงือกปลาหมอเทศ: ใบประดับขอบจักเป็นหนามแหลม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Barker, R.M. (1986). A taxonomic revision of Australian Acanthaceae. Journal of the Adelaide Botanic Gardens 9: 64–75.

Hu, J.Q. and T.F. Daniel. (2011). Acanthaceae (Acanthus). In Flora of China Vol. 19: 379.

Ng, P.K.L. and N. Sivasothi (eds). (2001). Guide to the Mangroves of Singapore 1: The ecosystem and plant diversity. Singapore: Singapore Science Centre.