Index to botanical names
Fabaceae
ไม้เถา มีขนประปรายกระจายทั่วไป ขนหนาแน่นตามช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก และผล หูใบยาว 3–5 มม. ใบประกอบมีใบย่อย 8–16 คู่ ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน ยาว 0.5–2 ซม. ปลายตัด มีติ่งหรือมน โคนกลม ก้านใบยาวประมาณ 1 มม. ช่อดอกยาว 2–8 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยยาว 0.5–1 มม. ดอกสีม่วง กลีบกลางรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. มีก้าน ปลายเว้า กลีบปีกและคู่ล่างเรียวแคบกว่า รังไข่และก้านเพศเมียมีขนหนาแน่น ฝักรูปขอบขนาน ยาว 2–4 ซม. มี 2–6 เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. โคนสีดำ ช่วงปลายสีแดงพบทั่วไปในเขตร้อน ขึ้นตามชายป่าและเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร เมล็ดแข็งเป็นมันวาว มีพิษร้ายแรงถึงชีวิต ใช้ทำเครื่องประดับ ส่วนอื่น ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง
ชื่อสามัญ Crab’s eye vine, Rosary pea
ชื่ออื่น กล่ำเครือ, กล่ำตาไก่ (เชียงใหม่); เกมกรอม (สุรินทร์); ชะเอมเทศ, ตากล่ำ (ทั่วไป); มะกล่ำเครือ, มะกล่ำแดง (เชียงใหม่); มะกล่ำตาหนู (ทั่วไป); มะขามเถา (ตรัง); มะแค๊ก (เชียงใหม่); ไม้ไฟ (ตรัง); หมากกล่ำตาแดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
มะกล่ำตาหนู: ใบประกอบมีใบย่อย 8–16 คู่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกหนาแน่น ดอกสีม่วง เมล็ดโคนสีดำ ช่วงปลายสีแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Bao, B. and M. Gilbert. (2010). Fabaceae (Abrus). In Flora of China Vol. 10: 194.
Verdcourt, B. (1979). A manual of New Guinea legumes. Botany Bulletin 11: 515–529.