สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ไทรย้อยใบทู่
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Ficus microcarpa L.f.

Moraceae

ไม้ต้น บางครั้งรอเลื้อย กึ่งอาศัยหรือขึ้นบนพื้นดิน สูงได้ถึง 30 ม. หูใบยาว 0.5–1.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับเกือบกลม ยาว 2–14 ซม. ขอบใบหนาช่วงโคน แผ่นใบหนา เส้นโคนใบ 1 คู่ เห็นชัดเจน เส้นแขนงใบย่อยเรียงขนานกัน มีต่อมไขที่โคนเส้นกลางใบ ก้านใบยาว 0.5–3 ซม. ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบ รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 ซม. สุกสีชมพูหรือม่วงอมดำ ไร้ก้าน ช่องเปิดกว้าง 1.5–2 มม. มีขนด้านใน ใบประดับด้านบน 3 อัน เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบรวมด้านในสีแดง ขอบสีขาว (สกุลย่อย Urostigma)

พบที่ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ป่าเสื่อมโทรมชายทะเล หรือเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร

ชื่อสามัญ  Curtain fig

ชื่ออื่น   ไทรกร่าง (กาญจนบุรี); ไทรย้อยใบทู่ (ทั่วไป); ไฮฮี (เพชรบูรณ์)

ไทรย้อยใบทู่: แผ่นใบหนา เส้นโคนใบ 1 คู่ figs ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ แก่สีชมพู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Berg, C.C., N. Pattharahirantricin and B. Chantarasuwan. (2011). Moraceae in Flora of Thailand Vol. 10(4): 475–675.