สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ไคร้น้ำ
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Homonoia riparia Lour.

Euphorbiaceae

ไม้พุ่ม แตกกิ่งหนาแน่น สูงได้ถึง 7 ม. แยกเพศต่างต้น หูใบ 2 อัน เรียวแคบ ยาว 5–8 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 3.5–20 ซม. ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย ขอบจักมีต่อมด้านล่าง แผ่นใบด้านล่างมีนวลและปุ่มเล็ก ๆ กระจาย ก้านใบยาว 0.4–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ยาว 7–10 ซม. ดอกไร้ก้าน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปไข่ ยาว 3–4 มม. เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน 3–6 มม. แยกแขนง 2 ทาง สั้น ๆ อับเรณูจำนวนมาก ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยง 5–6 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว 1–2 มม. รังไข่มีขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรแยก 3 แฉก ยาวได้ถึง 4 มม. ติดทน ผลแยกแล้วแตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4 ซม. มีขนสั้นนุ่ม เมล็ดยาวประมาณ 2 มม. มีเยื่อหุ้มสีแดง

พบที่อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามโขดหินริมแม่น้ำ หรือชายฝั่งทะเลที่น้ำท่วมถึง เป็นพืชทนน้ำท่วม เปลือกเหนียวใช้แทนเชือกได้ ใบ กิ่ง และผล แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ในเวียดนามใบใช้เลี้ยงสัตว์

สกุล Homonoia Lour. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Acalyphoideae มี 3 ชนิด อีก 2 ชนิดพบเฉพาะที่อินเดีย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “homos” คล้องจองกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน และ “nous” จิตใจ หมายถึงลักษณะเกสรเพศผู้จำนวนมากที่เรียงแยกแขนงไปมาสอดคล้องกัน

ชื่อสามัญ  Willow-leaved water Croton

ชื่ออื่น   กะแลแร (มาเลย์-ยะลา); แกลแร (มาเลย์-นราธิวาส); ไคร้, ไคร้น้ำ (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); ไคร้หิน (ชุมพร); แร่ (ตรัง); สี่ที่โค่, เหี่ยที้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ไคร้น้ำ: ไม้พุ่มแตกกิ่งต่ำหนาแน่น ขึ้นเป็นกลุ่มตามโขดหินริมแม่น้ำ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด อับเรณูจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียแยก 3 แฉก ติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Qiu, H. and M.G. Gilbert. (2008). Euphorbiaceae (Homonoia). In Flora of China Vol. 11: 247–248.

van Welzen, P.C. (2007). Euphorbiaceae (Homonoia). In Flora of Thailand Vol. 8(2): 336–338.