สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ไคร้งอย
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Itea riparia Collett & Hemsl.

Iteaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. หูใบคล้ายขนครุย ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 5–13 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว 4–8 ซม. มีขนกำมะหยี่หนาแน่น ใบประดับยาวประมาณ 3 มม. ร่วงเร็ว แต่ละใบประดับมี 1–3 ดอก ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 3–5 มม. ขยายในผล ฐานดอกยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เชื่อมติดโคนรังไข่ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 มม. ติดทน ดอกสีขาว กลีบรูปไข่แคบ ๆ ยาว 4–5 ซม. จานฐานดอกรูปวงแหวน เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใต้ขอบจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 มม. มี 2 คาร์เพล ติดกันที่โคน ยอดเกสรเพศเมียเชื่อมกัน ติดทน ผลแห้งแตก แยกเป็น 2 ซีก ยาว 5–6 มม. เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก

พบที่จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 200–1400 เมตร เป็นไม้ทนน้ำท่วม

สกุล Itea L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Escalloniaceae, Grossulariaceae หรือ Saxifragaceae มีประมาณ 18 ชนิด ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ I. macrophylla Wall. ไม่ใช่พืชทนน้ำท่วม ใบขนาดใหญ่กว่า และช่อดอกออกตามซอกใบ ในไทยพบที่เชียงใหม่ ชื่อสกุลเป็นภาษากรีกหมายถึงพืชพวกหลิว

ชื่ออื่น   ไคร้โคก (เลย); ไคร้งอย (ลำปาง)

ไคร้งอย: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ผลแห้งแตก แยกเป็น 2 ซีก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Esser, H.-J. (2005). Iteaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(1): 36–38.