สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



โชน
วันที่ 28 กันยายน 2559

Dicranopteris curranii Copel.

Gleicheniaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน เหง้าทอดนอนแยกสองแฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–5 มม. ปลายเหง้ามีเกล็ดรูปโล่ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบแตกออกจากลำต้นห่าง ๆ กัน ก้านใบส่วนมากยาวมากกว่า 1 ม. ส่วนโคนอวบอ้วน แยกเป็นใบย่อย 2–3 ครั้ง เท่า ๆ กัน ระหว่างง่ามมีตา ก้านสั้นหรือไร้ก้าน แผ่นใบรูปขอบขนาน กว้าง 8–20 ซม. ยาว 20–50 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเรียวแคบ จักลึกเป็นพูรูปแถบ ปลายมน กลม หรือเว้าตื้น กว้างประมาณ 5 มม. ยาวได้ถึง 7 ซม. ขอบเรียบ เส้นใบแตกเป็นง่าม กลุ่มอับสปอร์กลม เรียงเป็นแถวระหว่างเส้นใบข้างละแถว

พบที่ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในไทยพบที่เขาใหญ่ จังหวัดนครนายก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และภาคใต้ ขึ้นตามป่าพรุ หรือชายป่าดิบชื้น และที่โล่งข้างถนน ทำให้มีชื่อสามัญว่า Roadside fern

สกุล Dicranopteris Bernh. มีมากกว่า 10 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 4 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dikranos” แยกสองง่าม และ “pteris” เฟิน ตามลักษณะใบ

ชื่อสามัญ  Roadside fern

ชื่ออื่น   กล่ำ (นราธิวาส); โชน (ทั่วไป); ลือแซ (มาเลย์-นราธิวาส)

โชน: ใบแยก 2–3 ครั้ง กลุ่มอับสปอร์กลม เรียงเป็นแถวระหว่างเส้นใบข้างละแถว (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)

เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1979). Gleicheniaceae. In Flora of Thailand 3(1): 54–56.