สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



โคลงเคลง
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma malabathricum L.

Melastomataceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 6 ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม มีเกล็ดคล้ายขนแบนราบหนาแน่นตามกิ่ง ใบประดับ และฐานดอกรูปถ้วย ใบรูปใบหอก ยาว 4–14 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น แผ่นใบมีขนแข็งเอนหนาแน่นทางด้านล่าง ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ช่อดอกมี 3–7 ดอก ออกที่ปลายกิ่งใหม่ ๆ ใบประดับยาวได้ถึง 2 ซม. ฐานดอกยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 0.5–1.3 ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 2.5–4 ซม. อับเรณูวงนอกยาว 0.7–1.4 ซม. รยางค์ยาว 0.4–1 ซม. วงในอับเรณูและรยางค์สั้นกว่า รังไข่ปลายมีขนแข็ง ผลรูปคนโท ยาวได้ถึง 1.5 ซม. แตกอ้าเปิดออก ผลแก่เนื้อในสีม่วง

พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชาย ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร มีความผันแปรสูง แยกเป็น subsp. normale (D.Don) Karst. Mey. กิ่งและแผ่นใบด้านล่างมีขนยาว พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ใบใช้ประคบแผลไฟไหม้

ชื่อสามัญ  Indian Rhododendron, Malabar melastome

ชื่ออื่น   subsp. malabathricum: กะดูดุ, กาดูโด๊ะ (มาเลย์-ปัตตานี, สตูล); โคลงเคลง, โคลงเคลงขี้นก, โคลงเคลงขี้หมา (ตราด); ซิซะโพ๊ะ (กะเหรียง-กาญจนบุรี); ตะลาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เบร์, มะเหร, มังเคร่, มังเร้ (ภาคใต้); มายะ (ชอง-ตราด); สาเร, สำเร (ภาคใต้); อ้า, อ้าหลวง (ภาคเหนือ) subsp. normale (D. Don) K. Meyer: กะช้างลิ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ขันก๋าง (เพชรบูรณ์); จุกนารี (กรุงเทพฯ); ซอลาเปล (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ปอฮี้แท้ (กะเหรียง-แม่ฮ่องสอน); อ้า, อ้าหลวง (ภาคเหนือ); อี้สี่ (มูเซอ-เชียงใหม่)

โคลงเคลง: เกสรเพศผู้มี 2 ขนาด ผลรูปคนโท แตกอ้าเปิดออก เมล็ดขนาดเล็กฝังตามเนื้อผล กิ่งและแผ่นใบด้านล่างมีขนยาว (subsp. normale) (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Renner, S.S., G. Clausing, N. Cellinese and K. Meyer. (2001). Melastomataceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 438–448.