สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



แสมขาว
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Avicennia marina (Forssk.) Vierh.

Acanthaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. กิ่งอ่อนมักเป็นสี่เหลี่ยม ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2–7 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมมน โคนเรียวสอบ แผ่นใบหนา ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม มักมีนวล ก้านใบสั้นหรือยาวได้ถึง 1.8 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น แยกแขนง ก้านช่อยาว 1–2.5 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ติดทน ดอกออกตรงข้ามกัน ไร้ก้าน ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงรูปถ้วย แฉกลึก 5 กลีบ ขอบมีขนครุย เรียงซ้อนเหลื่อมที่โคน ติดทน ดอกรูประฆัง ส่วนมากมี 4 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดใกล้ปากหลอดระหว่างกลีบดอก ยื่นพ้นปากหลอดกลีบเล็กน้อย รังไข่มี 4 ช่องไม่สมบูรณ์ มีขนสั้นนุ่ม พลาเซนตารอบแกนมีปีก ยอดเกสรเพศเมียจักตื้น ๆ 2 พู ผลแห้งแตกเป็น 2 ส่วน รูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 1.2 ซม. มีขนสั้นนุ่ม

พบที่แอฟริกา จีน ไห่หนาน ไต้หวัน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ขึ้นหนาแน่นในป่าโกงกาง มีความผันแปรสูง แยกเป็นหลายชนิดย่อย เปลือกใช้สมานแผล ห้ามเลือด

สกุล Avicennia L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Avicenniaceae และ Verbenaceae ปัจจุบันอยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Avicennioideae มีประมาณ 10 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ แสมดำ A. officinalis L. ปลายใบมนกลม ชื่อสกุลตั้งตามนักปราชญ์และแพทย์ชาวเปอร์เซีย Avicenna (980–1037)

ชื่อพ้อง  Sceura marina Forssk., Avicennia alba Blume

ชื่อสามัญ  Grey mangrove, Olive mangrove

ชื่ออื่น   ปีปี (กระบี่); ปีปีดำ (ภูเก็ต); พีพีเล (ตรัง); แสม, แสมขาว, แสมทะเล (ภาคกลาง); แสมทะเลขาว (สุราษฎร์ธานี); แหม, แหมเล (ภาคใต้)

แสมขาว: ใบเรียงตรงข้าม ปลายแหลมหรือแหลมมน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น แยกแขนง ดอกออกตรงข้ามกัน ไร้ก้าน ดอกรูประฆัง เกสรเพศผู้ติดใกล้ปากหลอดกลีบระหว่างกลีบดอก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Chen, S.L. and M.G. Gilbert. (1994). Verbenaceae. In Flora of China Vol. 17: 49.