สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แฟบน้ำ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Hymenocardia punctata Wall. ex Lindl.

Phyllanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 7 ม. แยกเพศต่างต้น ส่วนต่าง ๆ มีขนและเกล็ด หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว 1–3 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรี ยาว 2.5–8.5 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนมนหรือเว้าตื้น แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดหนาแน่น ตุ่มใบเป็นขนกระจุก ก้านใบยาว 0.5–1.2 ซม. ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอก ยาวได้ถึง 2.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีแดงหรืออมม่วง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มม. เกสรเพศผู้ 4–5 อัน เชื่อมติดเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. รังไข่มี 2 ช่อง เกสรเพศเมียไร้ก้าน ยอดเกสร 2 อัน ยาวได้ถึง 8.5 มม. ติดทน มีปุ่มยาวกระจายสีน้ำตาลแดง ผลจัก 2 พู รูปหัวใจแบน ยาวประมาณ 1.5 ซม. ส่วนมากมีเมล็ดเดียว

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่าใกล้แหล่งน้ำ ความสูงถึงประมาณ 250 เมตร ผลมีรสเปรี้ยวใช้ปรุงอาหาร

สกุล Hymenocardia Wall. ex Lindl. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae มี 9 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hymen” บาง และ “kardia” หัวใจ ตามลักษณะของผล

ชื่อพ้อง  Hymenocardia wallichii Tul.

ชื่ออื่น   ก้างปลาขาว (สุโขทัย); แควบ, แฟบ (ชลบุรี); แฟบน้ำ (ประจวบคีรีขันธ์); แฟบหัวลิง (ภาคใต้); หมักแฟบ (พิษณุโลก); หูด้าง (สุรินทร์); หูลิง (นครราชสีมา)

แฟบน้ำ: ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะสั้น ๆ ยอดเกสร 2 อัน มีปุ่มสีน้ำตาลแดง ติดทน ผลจัก 2 พู รูปหัวใจแบน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)