| แคแสด
| | | วันที่ 26 สิงหาคม 2559 |
| Spathodea campanulata P.Beauv. |
|
ไม้ต้น สูง 10–25 ม. มีหูใบเทียม ใบประกอบชั้นเดียว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว 30–40 ซม. มีใบย่อย 4–8 คู่ รูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 5–15 ซม. โคนเบี้ยว มักมีต่อม 1 คู่ ก้านใบย่อยสั้นมากเกือบไร้ก้าน ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีส้ม ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเป็นกาบ ยาว 4–6 ซม. เป็นสัน ปลายมีจะงอย มีขนละเอียด ดอกรูประฆังกว้าง หลอดกลีบดอกยาว 8–12 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ตื้น ๆ ยาวประมาณ 1.5 ซม. ขอบกลีบเป็นคลื่น เกสรเพศผู้ 4 อัน รังไข่มี 2 ช่อง ยอดเกสรเพศเมียจัก 2 พู ผลแห้งแตก รูปขอบขนาน ยาว 10–25 ซม. ปลายแหลม ผิวมีสัน แตกออกด้านเดียวรูปเรือ เมล็ดจำนวนมาก มีปีกบางล้อมรอบ
มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาเขตร้อน เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน กิ่ง ใบ และดอกใช้ถอนพิษ ขับลม แก้ไข้
สกุล Spathodea P. Beauv. มีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “spathe” กาบ หมายถึงกลีบเลี้ยงคล้ายกาบ
| | | ชื่อสามัญ African tulip tree, Fore bell, Fountain tree, Nandi flame, Pichkari
| ชื่ออื่น แคแดง, แคแสด, ยามแดง (กรุงเทพฯ)
| | แคแสด: ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเป็นกาบ เป็นสัน ปลายมีจะงอยกลีบดอกรูประฆังกว้าง ขอบกลีบเป็นคลื่น (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
|
|
|