สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เหลืองสยาม
วันที่ 3 มกราคม 2561

Lysimachia congestiflora Hemsl.

Primulaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อย อาจสูงได้ถึง 50 ซม. มีขนยาว มีรากตามข้อ ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง ยาว 1–4.5 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มถึงกลม แผ่นใบมีขนและต่อมกระจาย เส้นแขนงใบข้างละ 2–4 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ คล้ายช่อกระจุก เรียงหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 2–4 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ปลายแหลม ยาว 5–8.5 มม. ด้านนอกมีขนประปราย กลีบดอกสีเหลือง โคนด้านในมีสีส้มอมแดง กลีบรูปไข่ ยาว 7–9 มม. มีต่อมกระจาย ด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันที่โคนประมาณ 2.5 มม. ก้านชูอับเรณูที่แยกยาว 2.5–4.5 มม. อับเรณูแตกด้านข้างตามยาว รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาว 5–7 มม. ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งแตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4 มม. เมล็ดขนาดเล็ก

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ขึ้นตามทุ่งหญ้า ชายป่าดิบเขา ความสูงประมาณ 1200 เมตร เป็นไม้ประดับ อาจใช้ชื่อ Lysimachiaprocumbens’ มีหลายสายพันธุ์ ในจีนใช้รักษาแผล ช้ำบวม กระดูกแตก และเคล็ดขัดยอก

ชื่อสามัญ  Creeping Jenny, Outback sunset dense-flowered loosestrife

ชื่ออื่น   เลื้อยขึ้นกอ (ภาคเหนือ); เหลืองสยาม (Bangkok)

เหลืองสยาม: ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ คล้ายช่อกระจุก เรียงหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง เกสรเพศผู้ 5 อัน เชื่อมติดกันที่โคน อับเรณูแตกด้านข้างตามยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Chi-Ming, H. (1999). Primulaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 160–161.

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.