สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เหลืองพิศมร
วันที่ 3 มกราคม 2561

Spathoglottis affinis de Vriese

Orchidaceae

กล้วยไม้ดิน ลำลูกกล้วยรูปไข่ แบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. ใบพับจีบ มี 2–4 ใบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 10–42 ซม. โคนสอบเรียว ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่โคนลำลูกกล้วย ช่อตั้งขึ้น มีขนสั้นนุ่ม ก้านช่อยาว 15–60 ซม. แกนช่อยาว 5–20 ซม. มีได้ถึง 15 ดอก ใบประดับ 4–8 ใบ รูปใบหอก ยาว 0.5–3 ซม. ใบประดับที่มีดอกรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว 0.3–1 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงคู่ล่างและปุ่มนูน โคนกลีบปาก (cali) มักมีปื้นสีแดง กลีบเลี้ยงรูปรี ยาว 1.5–2 ซม. ปลายแหลม กลีบดอกคล้ายกลีบเลี้ยง ขนาดเท่า ๆ กัน ปลายมน กลีบปากมี 3 พู พูกลางยาว 1–1.8 ซม. โคนเรียวเป็นก้านยาวเท่า ๆ แผ่นกลีบรูปพัด พูข้างรูปรี ยาว 0.5–1 ซม. โคนกลีบปากมีปุ่มนูนรูปกระบอง 2 ปุ่ม โคนเชื่อมติดกัน มีขนยาว เส้าเกสรเรียว ยาว 1–1.4 ซม. กลุ่มเรณู 8 กลุ่ม แยกเป็น 2 กลุ่มย่อย ก้านและรังไข่ยาว 1.4–3.3 ซม. ฝักแห้งแตก รูปรี ยาว 1.8–3 ซม.

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ชวา และบอร์เนียว ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูง 1000–1200 เมตร

สกุล Spathoglottis Blume อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Epidendroideae เผ่า Collabieae มี ประมาณ 40 ชนิด พบในเอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 7 ชนิด ส่วนมากมีสีเหลืองหรือสีครีม มีดอกสีชมพู 2 ชนิด คือ ชมพูพิศมร S. hardingiana C. S. P. Parish & Rchb.f. และว่านจุก S. plicata Blume และเป็นไม้ประดับหลากสายพันธุ์ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “spath” กาบ และ “glotta” ลิ้น ตามลักษณะของกลีบปาก

ชื่อสามัญ  Similar Spathoglottis

ชื่ออื่น   ตาลเดี่ยว (ภาคเหนือ); หัวข้าวเหนียว (Prachin Buri); เหลืองพิศมร (ทั่วไป)

เหลืองพิศมร: ใบพับจีบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ มี 1–3 ช่อ ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงคู่ล่างและปุ่มนูนโคนกลีบปาก มักมีปื้นสีแดง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Chen, X. and A. Bell. (2009). Orchidaceae (Spathoglottis). In Flora of China Vol. 25: 287.

Kurzweil, H. (2014). Orchidaceae (Spathoglottis). In Flora of Thailand Vol. 12(2): 621–631.