สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เสี้ยวป่า
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Bauhinia saccocalyx Pierre

Fabaceae

ไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้ต้นขนาดเล็ก แยกเพศต่างต้น มีขนและต่อมสีน้ำตาลตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก และตาดอก ใบรูปไข่กว้าง ยาว 5–9 ซม. ปลายแฉกถึงประมาณกึ่งหนึ่ง โคนเว้าตื้น เส้นใบ 9–11 เส้น ก้านใบยาว 2–3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง 7 ซม. ดอกหนาแน่น ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 2–3 มม. ใบประดับย่อยติดใต้จุดกึ่งกลางก้านดอก ตาดอกรูปรี ยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงคล้ายกาบ ดอกสีขาวหรืออมสีชมพู กลีบรูปไข่กลับ ยาว 0.7–1 ซม. ก้านกลีบสั้น เกสรเพศผู้ 10 อัน วงนอกยาวประมาณ 6 มม. วงในยาวประมาณกึ่งหนึ่งของวงนอก อับเรณูยาวประมาณ 1 มม. เป็นหมันในดอกเพศเมีย รูปเส้นด้าย รังไข่มีขน ยาวประมาณ 1 ซม. มี ก้านสั้น ๆ ยอดเกสรเพศเมียรูปจาน ฝักเกลี้ยง รูปใบหอกหรือรูปแถบ แบน ยาว 7–14 ซม. ปลายกว้าง มีจะงอย มี 3–5 เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2–1.5 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชงโค, สกุล)

พบที่ลาว ในไทยพบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ที่โล่ง หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร

ชื่ออื่น   คิงโค (นครราชสีมา); ชงโค (ทั่วไป); ส้มเสี้ยว (นครสวรรค์, อุดรธานี); ส้มเสี้ยวโพะ, เสี้ยวดอกขาว (เลย); เสี้ยวป่า (น่าน)

เสี้ยวป่า: ช่อดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง ขนาดไม่เท่ากัน เป็นหมันในดอกเพศเมีย รังไข่มีขน ฝักรูปใบหอก ปลายกว้าง มีจะงอยสั้น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 20–21.