สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เป้ง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Phoenix loureiroi Kunth

Arecaceae

ปาล์มส่วนมากเป็นลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง 5 ม. โคนใบแห้งติดทน ใบยาวได้ถึง 2 ม. ใบย่อยข้างละ 80–130 ใบ เรียงเป็นกลุ่ม 3–4 ใบ แผ่กระจายหลายทาง ด้านล่างมักมีสีเขียวอมน้ำเงิน ใบที่เปลี่ยนรูปเป็นหนามบนก้านใบมีข้างละ 14–16 อัน เรียงยาวได้ถึง 20 ซม. ช่อดอกตั้งตรง ช่อดอกเพศผู้ ก้านช่อยาว 10–15 ซม. มีช่อย่อย 25–30 ช่อ ยาว 8–12 ซม. ดอกเพศผู้ยาว 5–8 มม. ช่อดอกเพศเมีย ก้านช่อยาว1–1.5 ม. มีช่อย่อย 30–40 ช่อ ยาว 30–40 ซม. ดอกเพศเมียยาว 3–4 มม. ช่อผลยาว 1.4–1.6 ม. โค้งลง ผลรูปรี ยาว 1–1.8 ซม. หน้าตัดกลม

พบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

ชื่อพ้อง  Phoenix humilis Royle ex Becc.

ชื่อสามัญ  Dwarf date palm

ชื่ออื่น   เป้ง, เป้งดอย (ภาคเหนือ)

เป้ง: ปาล์มลำต้นเดี่ยว ใบแห้งติดทน ใบย่อยเรียงเป็นกลุ่ม 3–4 ใบ แผ่กระจายหลายทาง ช่อผลโค้งเล็กน้อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Barfod, A.S. and J. Dransfield. (2013). Arecaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(3): 461–465.