สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เปราะหอม
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Kaempferia galanga L.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก ส่วนมากมี 2–3 ใบ แบนราบ รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 6–14 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนกลมหรือรูปหัวใจ ขอบบาง แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ไร้ก้าน กาบใบหนารูปใบหอก ยาวประมาณ 5 ซม. ลิ้นใบบาง มีขน ช่อดอกไร้ก้าน มีหลายดอก ใบประดับรูปใบหอก ยาว 2–3 ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว 2–3 ซม. ม้วนงอตามเส้นกลางใบ หลอดกลีบเลี้ยง ยาว 2–2.5 ซม. ปลายแยก 2 แฉก ตื้น ๆ หลอดกลีบดอกยาว 3–4 ซม. กลีบดอกสีขาว รูปใบหอก ยาว 1.5–2 ซม. กลีบหลังปลายแหลม กลีบข้างปลายทู่ แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีขาว รูปไข่กลับหรือแกมรูปใบหอก ยาว 1.5–2 ซม. กลีบปากแยกจรดโคน สีขาวมีปื้นสีม่วงช่วงโคน กลีบรูปไข่กลับ ยาว 1.8–2.2 ซม. อับเรณูยาว 3–4 มม. ปลายแกนอับเรณูเป็นสันรูปรี ยาว 4–5 มม. จักลึก 2 พู ก้านเกสรเพศเมียยาว 4–6 มม.

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า คาบสมุทรมลายู ชวา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร มีความผันแปรสูง อนึ่ง เปราะป่า K. marginata Carey ex Roscoe ที่ขอบใบสีม่วงอมน้ำตาล และปื้นสีม่วงบนกลีบปากอยู่ประมาณช่วงกลางกลีบ อาจจะเป็นชื่อพ้องของเปราะหอม (pers. com. John Mood) ส่วนต่าง ๆ มีสารที่ก่อให้เกิดอาการประสาทหลอน มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อสามัญ  Chengkur

ชื่ออื่น   เปราะหอม (ภาคกลาง); ว่านตีนดิน, ว่านแผ่นดินเย็น, ว่านหอม (ภาคเหนือ); หอมเปราะ (ภาคกลาง)

เปราะหอม: ใบแบนราบ ขอบบาง ช่อดอกออกระหว่างกาบใบ ไร้ก้านช่อ กลีบปากแยกจรดโคน สีขาวมีปื้นสีม่วงช่วงโคน (ภาพ: John Mood)

เอกสารอ้างอิง

Sirirugsa, P. (1992). Taxonomy of the genus Kaempferia (Zingiberaceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 19: 1–15.

Sirirugsa, P. (1989). The genus Kaempferia (Zingiberaceae) in Thailand. Nordic Journal of Botany 9: 257–259.

Wu, D. and K. Larsen. (2000). Zingiberaceae. In Flora of China Vol. 24: 368–370.