ไม้ต้น สูง 30–40 ม. มีพูพอน โคนต้นมีช่องอากาศเป็นคอร์กกระจาย หูใบรูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 5–18 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดขุยสีเหลืองและต่อมสีแดงกระจาย ใบอ่อนมีนวล เส้นแขนงใบข้างละ 10–12 เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกแยกแขนง ยาว 10–30 ซม. ก้านดอกยาว 2–3 มม. ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 4 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบคู่นอกเรียวกว่าเล็กน้อย พับงอ ติดทน เกสรเพศผู้ 15 อัน เรียง 3 วง อับเรณูมี 4 พู ยาวประมาณ 3 มม. แกนอับเรณูปลายมีรยางค์เป็นติ่ง รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 2 มม. แต่ละช่อมักติดผลเดียว ผลเปลือกแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5–3 ซม. ผิวเป็นคอร์ก ปลายเป็นติ่งสั้น ๆ กลีบเลี้ยงหนา พับงอ ยาว 5–7 มม.
พบที่ลาว (เวียงจันทน์) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทยที่ภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ขึ้นริมลำธารในป่าดิบแล้ง ความสูงประมาณ 200 เมตร เดิมมีสถานภาพเป็นชนิด P. kerrii Tardieu และเป็นชื่อพ้องของ P. buchananii (C. E. C. Fisch.) Symington ซึ่งผลกลีบเลี้ยงขยายเป็นปีก และยังไปคล้ายกับ P. dussaudii Tardieu ต่างกันที่มีแผ่นใบเกลี้ยง ใบประดับรูปใบหอก แต่ยังไม่มีข้อมูลผลว่ามีปีกหรือไม่มี ปัจจุบันจึงให้เป็นชนิดย่อยของ P. densiflora Slooten & Symington ที่พบแถบคาบสมุทรมลายู ผลกลมเป็นคอร์ก กลีบเลี้ยงไม่ขยายเป็นปีก แต่หูใบรูปแถบ ช่อดอกสั้นกว่า เส้นแขนงใบข้างละ 13–20 เส้น
สกุล Parashorea Kurz อยู่ภายใต้เผ่า Shoreae ที่โคนกลีบเลี้ยงในผลเรียงซ้อนเหลื่อม มี 14 ชนิด พบที่พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ ไข่เขียว P. stellata Kurz ที่กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีก 5 ปีก ยาวเท่า ๆ กันในผล ชื่อสกุลหมายถึงสกุลที่คล้ายกับสกุล Shorea
|