| ไม้พุ่ม สูง 1–1.5 ม. เกลี้ยง มีหนามรอบข้อ ยาว 1–2 ซม. ใบรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ยาว 4–12 ซม. ปลายแหลม มีติ่งแหลม โคนสอบเรียว ขอบมีขนแข็ง แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาวได้ถึง 2.5 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งคล้ายช่อเชิงลดสั้น ๆ ใบประดับรูปแถบ ยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับย่อยเป็นหนาม ติดทน ยาว 1–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงคู่นอกยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายมีติ่งหนาม กลีบคู่ในรูปไข่ ปลายแหลมยาว ดอกสีเหลืองอมส้ม หลอดกลีบดอกยาว 2–2.5 ซม. กลีบบนยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก กลีบล่างขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 2 อัน ยื่นเลยปากหลอดกลีบเล็กน้อย เป็นหมัน 2 อัน ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ ผลรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. ปลายมีจะงอย เมล็ดแบน รูปไข่ ยาว 5–7 มม. มีขนคล้ายไหม
พบทั่วไปในแอฟริกา เป็นวัชพืชในเอเชียเขตร้อน ขึ้นหนาแน่นตามเขาหินปูนที่แห้งแล้ง พบมากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ทุกส่วนมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง โดยเฉพาะแก้ปวดฟัน มีความผันแปรสูง แยกเป็นหลายชนิดย่อย ตามลักษณะช่อดอก สิ่งปกคลุมบนดอกและผล และความยาวของหนาม
| | | ชื่อสามัญ Porcupine flower
| ชื่ออื่น เขี้ยวแก้ว, เขี้ยวเนื้อ, อังกาบหนู (ภาคกลาง); มันไก่ (ภาคเหนือ)
| | อังกาบหนู: ช่อดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งคล้ายช่อเชิงลด ใบประดับย่อยเป็นหนาม ดอกสีเหลืองอมส้ม กลีบบนยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Bremekamp, C.E.B. (1961). Scrophulariaceae, Nelsonieae, Thunbergiaceae, Acanthaceae. Dansk Botanisk Arkiv 20(1): 65. |
| Hu, J.Q. and T.F. Daniel. (2011). Acanthaceae (Barleria). In Flora of China Vol. 19: 468–469. |
| Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i. |
| Wood, J.R.I., D. Hillcoat and R.K. Brummitt. (1983). Notes on the types of some names of Arabian Acanthaceae in Forsskal herbarium. Kew Bulletin 38: 436–442. |