สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



หูเสือหินปูน
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Plectranthus albicalyx Suddee

Lamiaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. มีขนและขนต่อมประปรายตามกิ่ง แผ่นใบ ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบรูปไข่ ยาว 2.5–6 ซม. โคนตัดหรือรูปลิ่มกว้าง แผ่นใบมีต่อมขนาดเล็กด้านล่าง ก้านใบยาว 0.5–2.5 ซม. ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ หรือแยกแขนง ยาวได้ถึง 15 ซม. ช่อแยกแขนงยาวได้ถึง 7 ซม. ช่อกระจุกเรียงรอบข้อ ห่างกัน 0.5–1.2 ซม. ไร้ก้าน แต่ละช่อมีประมาณ 3 ดอก ใบประดับรูปไข่ ยาว 4–7 มม. ก้านดอกยาว 1–2 มม. ขยายในผลยาว 2–3 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. กลีบบนรูปไข่ กลีบล่างขอบจัก กลีบกลางรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ กับกลีบบน กลีบข้างรูปไข่กลับ สั้นกว่ากลีบกลาง ขยายในผลยาว 8–9 มม. ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน ยาว 0.7–1 ซม. หลอดกลีบยาว 4–6 มม. กลีบล่างยาวกว่ากลีบบน ผลรูปไข่หรือรูปรี สีน้ำตาลหรือดำ ยาวประมาณ 1.5 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคกลางที่สระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคตะวันออกที่นครราชสีมา และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นบนหินปูนในป่าดิบแล้ง ความสูง 50–500 เมตร

ชื่ออื่น   กะเพราหินปูน, หูเสือหินปูน (ทั่วไป)

หูเสือหินปูน: ช่อดอกแยกแขนง แต่ละช่อกระจุกมีประมาณ 3 ดอก กลีบเลี้ยงล่างกลีบกลางยาวเท่า ๆ กลีบบน กลีบดอกกลีบล่างยาวกว่ากลีบบน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Suddee, S., A. Paton and J. Parnell. (2005). A taxonomic revision of tribe Ocimeae Dumort. (Lamiaceae) in continental South East Asia II. Plectranthinae. Kew Bulletin 59(3): 387–413.