สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



หุน
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Argyreia osyrensis (Roth) Choisy

Convolvulaceae

ไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีขนสั้นหนานุ่มตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ใบประดับ และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปไข่ หรือรูปไข่กว้างเกือบกลม ยาว 4–12 ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ก้านใบยาว 2–5 ซม. ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแน่น ก้านช่อดอกหนา ยาว 2.5–6 ซม. ใบประดับรูปไข่กลับ หนา ย่น ปลายมน ยาว 0.8–1.2 ซม. ติดทน ดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยงคู่นอกรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 ซม. 3 กลีบในรูปขอบขนาน ยาว 5.5–9 มม. ดอกรูประฆัง สีชมพู หลอดกลีบดอกยาว ประมาณ 1.5 ซม. แฉกลึก 5 กลีบ รูปไข่แคบ ยาว 4–8 มม. พับงอกลับ ปลายกลีบเว้าตื้น เส้นกลางกลีบมีขน เกสรเพศผู้และเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 2–4 มม. รังไข่เกลี้ยง มี 2 ช่อง ยอดเกสรเป็นกระจุกแน่น มี 2 พู ผลแบบผลสด เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 มม. กลีบเลี้ยงติดทน ด้านในสีแดง มี 1–2 เมล็ด เกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–5 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ เครือพุงหมู, สกุล)

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ป่าเต็งรัง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

ชื่อพ้อง  Ipomoea osyrensis Roth

ชื่ออื่น   เถาหมากวาง (สุราษฎร์ธานี); หางหมู (อุบลราชธานี); หุน (ทั่วไป)

หุน: ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแน่น ก้านช่อหนา ใบประดับหนา ย่น มีขนสั้นหนานุ่ม ดอกรูประฆัง แฉกลึก พับงอกลับ เกสรเพศผู้และเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก (ภาพ: ปาจรีย์ อินทะชุบ)

เอกสารอ้างอิง

Fang, R. and G. Staples. (1995). Covolvulaceae. In Flora of China Vol. 16: 320.

Staples, G. and P. Traiperm. (2010). Convolvulaceae (Argyreia). In Flora of Thailand Vol. 10(3): 359–361.