Index to botanical names
Rubiaceae
ไม้พุ่มอิงอาศัย คอรากพองเป็นหัวเป็นที่อาศัยของมด ยาว 25–30 ซม. มีรูทางเข้ามดกระจาย ผิวไม่มีหนาม แตกกิ่ง ยาวได้ถึง 30 ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ยาว 5–9 ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่ม ก้านใบยาว 2–5 มม. ดอกออกตามซอกใบ มี 1–5 ดอก ไร้ก้าน หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. ขอบเรียบ ติดทน ดอกรูปดอกเข็ม สีขาว หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 3 มม. ปากหลอดมีขนสั้นนุ่ม มี 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดใต้ปากหลอด ก้านชูอับเรณูสั้นมาก รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรจัก 2 พู ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่เรียวแคบ ยาวประมาณ 5 มม. สุกสีส้มอมแดง มี 2 ไพรีน สีดำพบที่พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และนิวกินี ในไทยส่วนมากพบทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบชื้น ป่าชายหาด และป่าพรุน้ำจืด น้ำต้มจากหัวมีสรรพคุณแก้ตับและลำไส้อักเสบสกุล Hydnophytum Jack เป็นหนึ่งในสกุลพืชที่เป็นที่อาศัยของมด (myrmecophyte) ในจำนวน 5 สกุลของวงศ์ Rubiaceae อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Rubioideae เผ่า Psychotrieae มีประมาณ 50 ชนิด พบที่หมู่เกาะอันดามันของอินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย และหมู่เกาะแปซิฟิก พบมากในนิวกินี ในไทยมีชนิดเดียว ขึ้นตามต้นไม้หลายชนิด ส่วนใหญ่มักพบกับพืชมีมดอื่น ๆ เช่นเฟินสกุล Lecanopteris (Polypodiaceae) หรือพืชสกุล Dischidia (Apocynaceae) ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hydnon” หัว และ “phyton” พืช หมายถึงพืชมีหัว
ชื่ออื่น กระเช้าผีมด (สุราษฎร์ธานี); ดาลูปูตาลิมา (มาเลย์-ภาคใต้); ปุมเป้า (ตราด); ร้อยรู (ปัตตานี); หัวร้อยรู (ภาคกลาง)
หัวร้อยรู: พืชมีหัว ใบเรียงตรงข้าม ผิวไม่มีหนาม ผลสุกสีส้มอมแดง กลีบเลี้ยงขอบเรียบ ติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Puff, C., K. Chayamarit and V. Chamchumroon. (2005). Rubiaceae of Thailand. The Forest Herbarium, Bangkok.