ไม้พุ่ม กิ่งมักห้อยลง ยาว 2–4 ม. แยกเพศต่างต้น มีหนามแหลม 1–2 อัน ตามซอกใบ หนามยาว 1–1.5 ซม. หูใบ 2 อัน ขนาดเล็ก รูปลิ่มแคบ ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่กว้าง หรือกลม ยาว 2–6 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งคล้ายหนาม ยาว 1–2 มม. แผ่นใบด้านบนเป็นมันเงา เส้นกลางใบนูนชัดทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 2–8 มม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาวได้ถึง 25 ซม. ดอกสีเหลืองอมเขียว ดอกเพศผู้เกือบไร้ก้าน ออกหนาแน่น กลีบเลี้ยงรูประฆัง มี 4 กลีบ แฉกลึกประมาณ 2 มม. กลีบดอก 4 กลีบ แยกจรดโคน ยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 4 อัน เรียงสลับกับกลีบดอก ยื่นพ้นกลีบดอก ไม่มีรังไข่ที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้เล็กน้อย แต่ก้านดอกยาวได้ถึง 8 มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสั้นกว่ากลีบดอก รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรจัก 2 พู ผลสด กลม สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 มม. เมล็ดมี 1–3 เมล็ด
พบที่ไห่หนาน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบแทบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งชายป่าชายเลน ป่าชายหาด หรือป่าเต็งรังผสมสน ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นน้ำมัน เนื่องจากใบมีน้ำมันมัสตาร์ด ซึ่งเป็นสาร glucosinolates
สกุล Azima Lam. มี 4 ชนิด พบในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลอาจมาจากภาษาพื้นเมืองของ มาลากาซี หรือมาดากัสการ์ “azimeana” ที่ใช้เรียกพืชสกุลนี้
|