Index to botanical names
Peraceae
ไม้ต้น อาจสูงได้ถึง 45 ม. แยกเพศต่างต้น หูใบรูปขอบขนาน เบี้ยว ยาวประมาณ 5 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่ ยาว 3.5–18.5 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกหนาแน่น มีขนหยาบแข็ง ดอกขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศเมียใหญ่กว่าดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 3 มม. ไม่มีกลีบดอก จานฐานดอกรูปวงแหวน จักมนในดอกเพศผู้ จักซี่ฟันถี่ในดอกเพศเมีย สีชมพูหรือแดง เกสรเพศผู้มี 8 อัน เชื่อมติดกัน 3–5 มม. มีขนปกคลุม ก้านชูอับเรณูยาว 0.4–1 มม. รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ยาว 0.3–1.2 มม. ยอดเกสรแยก 2 แฉก ยาว 1–2 มม. ผลแห้งแตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–1.8 ซม. สีเหลืองอมเขียว เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีขนแข็งหนาแน่น ปลายขนมีเงี่ยง เมล็ดรูปไข่ สีดำ ยาวประมาณ 5 มม. มีเยื่อหุ้มสีแดงช่วงปลายพบที่ศรีลังกา อินเดีย หมู่เกาะอันดามัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามริมลำธาร ชายป่าพรุ ป่าชายหาด ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตรสกุล Chaetocarpus Thwaites เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae มี 10–11 ชนิด พบทั่วไปในเขตร้อน ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “chaite” ขนแข็ง และ “kapos” ผล ตามลักษณะผลที่มีขนแข็งหนาแน่น
ชื่ออื่น ขี้หนอน (ภาคกลาง); ขี้หนอนขาว, อะกาง (ภาคใต้); ชี่, ซี (ปราจีนบุรี); ดังข้าว (พังงา); ดังข้าวเม่า (ตรัง); ตูเบื้อง (ภูเก็ต); บาตู (มาเลย์-นราธิวาส); ปะดังขาว (สตูล); มะอึกค่าง (สุราษฎร์ธานี); สนั่น (ตราด); สำเภา (ชลบุรี, ภาคกลาง); หมักควาย (นครปฐม)
สำเภา: ใบเรียงสลับระนาบเดียว ดอกขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ผลแห้งแตก มีขนแข็งหนาแน่น ปลายขนมีเงี่ยง เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)
van Welzen, P.C. (2005). Euphorbiaceae (Chaetocarpus). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 152–155.