| | Cautleya gracilis (Sm.) Dandy |
|
ไม้ล้มลุกอิงอาศัย สูงได้ถึง 50 ซม. เหง้าสั้น ลิ้นใบบาง ยาวประมาณ 2 มม. ปลายกลม ใบเรียงสลับระนาบเดียว 4–6 ใบ รูปใบหอก ยาว 6–18 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลมหรือเรียวสอบ มักมีสีม่วงด้านล่าง ก้านใบสั้นหรือไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ยาว 10–20 ซม. ใบประดับสีเขียวหรือมีสีแดงที่โคน สั้นกว่ากลีบเลี้ยง ติดทน กลีบเลี้ยงเป็นหลอด แฉกลึกด้านเดียว สีแดงหรืออมม่วง ยาว 1.5–2 ซม. ปลายจักฟันเลื่อย ดอกสีเหลืองครีมหรือเหลืองสด หลอดกลีบดอกยาวกว่ากลีบเลี้ยง กลีบดอก 3 กลีบ รูปใบหอก ยาว 1.5–2 ซม. กลีบข้างเชื่อมติดก้านกลีบปากประมาณกึ่งหนึ่ง แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันด้านข้างคล้ายกลีบดอก ตั้งตรง สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย กลีบปากรูปไข่กลับ ยาวเท่า ๆ กลีบดอก ปลายกลีบแฉกลึกประมาณกึ่งกลางกลีบ ก้านชูอับเรณูเรียวโค้ง ยาวประมาณ 2 ซม. อับเรณูรูปแถบ แกนอับเรณูโคนมีรยางค์เป็นง่าม รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรรูปลูกข่าง ขอบมีขน ผลกลม สีแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–1.2.ซม. แตกออกเป็น 3 ซีก พับงอกลับ เมล็ดสีดำเป็นมันวาว เป็นเหลี่ยม ไม่มีเยื่อหุ้ม
พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีนตอนใต้ และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกที่กาญจนบุรี ขึ้นตามคบไม้หรือโขดหินในป่าดิบเขา ความสูง 1300–2500 เมตร เหง้ามีสรรพคุณขับลม แก้ปวดท้อง
สกุล Cautleya (Royle ex Benth. & Hook.f.) Hook.f. เคยอยู่ภายใต้สกุล Roscoea sect. Cautlea มี 4 ชนิด พบในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยจนถึงเวียดนาม ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักบรรพชีวินวิทยาชาวอังกฤษ Sir Proby Thomas Cautley (1802–1871)
| ชื่อพ้อง Roscoea gracilis Sm., Cautleya lutea (Royle) Hook.f.
| | | ชื่ออื่น ข่าคาคบ, ปิ่นมวยคำ, เปราะสีชมพู, สางเขียว (ทั่วไป)
| | สางเขียว: ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ผลแตกออกเป็น 3 ซีก พับงอกลับ เมล็ดสีดำเป็นมันวาว เป็นเหลี่ยม ไม่มีเยื่อหุ้ม (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Cowley, E.J. (1982). A revision of Roscoea (Zingiberaceae). Kew Bulletin 36(4): 747–777. |
| Larsen, K. and S.S. Larsen. (2006). Gingers of Thailand. Queen Sirikit Botanic Garden. Chiang Mai. |
| Wu, D. and K. Larsen. (2000). Zingiberaceae. In Flora of China Vol. 24: 366. |