ไม้เถา ลำต้นมีหนาม หูใบคล้ายใบแบบขนนก ยาวได้ถึง 2 ซม. มีใบย่อย 3–5 ใบ แกนกลางใบประกอบยาว 30–50 ซม. มีหนาม ใบประกอบย่อย มี 3–9 คู่ มีใบย่อย 8–12 คู่ มีหนามระหว่างรอยต่อ 1 คู่ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 1–2 ซม. ยาว 2–4 ซม. ปลายแหลมหริอกลม ปลายมีติ่งแหลม โคนเบี้ยวเล็กน้อย ก้านใบย่อยยาวได้ถึง 0.8 มม. ช่อดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง บางครั้งแยกแขนงสั้น ๆ มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาว 0.6–1.2 ซม. โค้งงอกลับ ร่วงช้า ก้านดอกย่อยยาว 4–6 มม. มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อใกล้ปลายก้าน ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงยาวเท่า ๆ กัน รูปใบหอก สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล กลีบดอกกลีบกลางรูปขอบขนาน ยาว 1–1.2 ซม. คอดกลาง มีปื้นสีแดงและขนด้านใน กลีบบนและกลีบข้างรูปใบพาย สั้นกว่ากลีบกลางเล็กน้อย เกสรเพศผู้ยาวเท่า ๆ กัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่ยาวประมาณ 1 มม. มีขนสั้นนุ่มและขนแข็ง มีก้านสั้น ๆ ฝักรูปรี ยาว 5–8 ซม. มีขนแข็งคล้ายหนาม ยาว 7–9 มม. ก้านผลเหนือฐานดอกยาว 0.5–1 ซม. ผลแห้งสีน้ำตาล เมล็ดมี 2 เมล็ด รูปกลม ๆ คล้ายรูปไข่ ยาว 1.5–2 ซม. สีเทา (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ หนามขี้แรด, สกุล)
พบแทบทุกทวีปในเขตร้อน ในไทยพบแทบทุกภาค แต่ส่วนมากพบทางภาคใต้ มักขึ้นตามป่าชายหาด เมล็ดมีพิษ มีสรรพคุณลดไข้
|
|
|
ชื่อสามัญ Fever nut, Grey nickers,
Nicker bean
|
ชื่ออื่น ดามั้ด (มาเลย์-สตูล); บ่าขี้แฮด (ภาคเหนือ); มะกาเล็ง (เงี้ยว-เชียงใหม่); สวาด (ภาคกลาง); หวาด (ภาคใต้)
|
|
สวาด หูใบคล้ายใบแบบขนนก มีใบย่อย 3–5 ใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ใบประดับรูปลิ่มแคบ ฝักมีขนแข็งคล้ายหนาม มี 2 เมล็ด สีเทา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, Alain Mauric)
|
|