ไม้เถา ยาวได้มากกว่า 10 ม. มีขนตามกิ่งอ่อน แผ่นใบ ก้านใบ ช่อดอก และใบประดับ มีต่อมน้ำต้อยสีดำตามข้อ ปลายก้านใบ และใบประดับ ใบรูปไข่หรือรูปหัวใจกว้าง จัก 4–8 พู ยาว 4–15 ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบจักตื้น ๆ เส้นใบรูปฝ่ามือ 5–7 เส้น ก้านใบยาว 1–8 ซม. ช่อดอกห้อยลง ยาวได้ถึง 1.5 ม. แต่ละช่อกระจุกมี 2–4 ดอก ก้านดอกยาว 2–4 ซม. ใบประดับย่อยหุ้มกลีบเลี้ยง รูปขอบขนาน ยาว 1.5–3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วยขนาดเล็ก ขอบเรียบ ดอกรูปแตรสีม่วงอมน้ำเงินหรือสีขาว ด้านในสีครีมหรืออมเหลือง หลอดกลีบดอกยาว 3–5 ซม. กลีบกลมหรือรูปไข่กว้าง ยาว 2–3 ซม. เกสรเพศผู้ยาว 0.8–1 ซม. อับเรณูยาวเท่า ๆ ก้านชูอับเรณู โคนมีเดือยสั้น ปลายมีรยางค์เป็นติ่ง ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–1.8 ซม. ปลายมีจะงอย ยาว 2–2.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ รางจืด, สกุล)
พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร คล้ายรางจืด T. laurifolia Lindl. ที่ใบเรียบ และช่อดอกสั้นกว่า มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง
|
ชื่อพ้อง Flemingia grandiflora Roxb. ex Rottler
|
|
ชื่อสามัญ Bengal clock vine
|
ชื่ออื่น คาย (ปัตตานี); ช่องหูปากกา (ภาคใต้); ช่ออินทนิล, สร้อยอินทนิล (กรุงเทพฯ); น้ำผึ้ง (ชลบุรี); ปากกา (กระบี่); ย่ำแย้ (พิษรุโลก, อุตรดิตถ์)
|
|
สร้อยอินทนิล: ใบรูปไข่หรือรูปหัวใจกว้าง จัก 4–8 พู ช่อดอกห้อยลง ดอกรูปแตร สีม่วงอมน้ำเงิน ด้านในสีครีมหรืออมเหลือง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|