สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



สมอไทย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia chebula Retz.

Combretaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึก เปลือกในสีน้ำตาลแดง ใบเรียงเกือบตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 8–30 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น ๆ โคนรูปลิ่ม มน หรือเว้าตื้น แผ่นใบมีขนตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว 1–4 ซม. มีต่อมหนึ่งคู่ใกล้โคนใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ยาว 4–10 ซม. แกนช่อมีขนสั้นนุ่ม ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–4 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ด้านในมีขนหนาแน่น รังไข่เกลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาว 1.5–2 มม. ผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่กว้าง ยาว 2.5–4.5 ซม. เรียบหรือมี 5 สันตื้น ๆ เกลี้ยง ผลแก่สีดำ เมล็ดรูปรี ยาว 1.5–2 ซม. ผิวย่น

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร แก่นใช้ย้อมผ้าให้สีเหลือง ผลมีรสฝาด ช่วยให้เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้พิษร้อนภายใน เป็นหนึ่งในตำรับยาตรีผลา ร่วมกับสมอพิเภก และมะขามป้อม แยกเป็น var. nana Gagnep. หรือสมอนั่ง เป็นไม้พุ่มเตี้ย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ var. tomentella (Kurz) C.B.Clarke พบที่พม่า และจีนตอนใต้ แผ่นใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น

ชื่อสามัญ  Myrabolan wood

ชื่ออื่น   มะนะ (ภาคเหนือ); ม่าแน่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); สมอไทย, สมออัพยา (ภาคกลาง)

สมอไทย: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ผลเรียบหรือมีสันตื้น ๆ และสมอนั่ง: var. nana (ภาพล่าง) (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Exell, A.W. (1954). Combretaceae. In Flora Malasiana Vol. 4: 555–556.

Nanakorn, W. (1985). The genus Terminalia (Combretaceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 15: 59–107.

Sosef, M.S.M., E. Boer, W.G. Keating, S. Sudo and L. Phuphathanaphong. (1995). Timber trees: Minor commercial timbers. In Plant Resources of South-East Asia, 5(2). PROSEA, Bogor, Indonesia.