Index to botanical names
Salicaceae
ไม้ต้น สูง 10–20 ม. แยกเพศต่างต้น ตาข้างเรียวคล้ายรูปไข่ ปลายแหลม หูใบขนาดเล็ก รูปไข่ เบี้ยว ขอบจัก ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 6–16 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีนวลด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมาก ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อหางกระรอก ออกหลังผลิใบอ่อน มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ก้านช่อสั้น บนก้านมีใบขนาดเล็ก 2–3 ใบ มีขนยาว ดอกจำนวนมาก ใบประดับขนาดเล็ก รูปรี ติดทน โคนมีต่อมเชื่อมติดกันรูปจาน ต่อมแนบติดก้านดอกในดอกเพศเมีย ช่อดอกเพศผู้ยาว 5–10 ซม. ช่อดอกเพศเมียยาว 8–12 ซม. เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 8 อัน ยาวประมาณ 5 มม. มีขนที่โคน รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรจัก 2 พู ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก เกลี้ยง ยาวประมาณ 3 มม. เมล็ดขนาดเล็ก มีขนยาวละเอียดหนาแน่นพบที่อินเดีย ปากีสถาน จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งริมลำธาร ความสูงถึงประมาณ 1900 เมตร เปลือกมีสรรพคุณแก้ไข้ สารสกัดจากใบใช้บำรุงผิวสกุล Salix L. มีประมาณ 520 ชนิด ส่วนมากพบในเขตหนาวและเขตอบอุ่นทางซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะที่จีนมีกว่า 275 ชนิด ในไทยมีพืชพื้นเมืองชนิดเดียว และพบเป็นไม้ประดับ 2–3 ชนิด ซึ่งอาจเป็นพันธุ์ผสม ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “salicis” หมายถึงต้นหลิว (willow tree)
ชื่อสามัญ Indian willow, White willow
ชื่ออื่น คล้าย (ปัตตานี, ยะลา); ไคร้นุ่น, ไคร้บก, ตะไคร้บก (ภาคเหนือ); ไคร้ใหญ่ (ภาคใต้); งาลู, ดาลู, มาดาลู้ (มาเลย์-ปัตตานี, ยะลา); ตะหนุ่น (พระนครศรีอยุธยา); สนุ่น (ภาคกลาง); สนุ่นน้ำ (นครราชสีมา)
สนุ่น: ขึ้นตามที่โล่งริมลำธาร ช่อดอกออกหลังผลิใบอ่อน ช่อดอกแบบช่อหางกระรอก มีขนสั้นนุ่ม บนก้านช่อมีใบ 2–3 ใบ มีขนยาว (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
Fang, C.F., S.D. Zhao and A.K. Skvortsov. (1999). Salicaceae. In Flora of China Vol. 4: 171.
Harwood, B. (2015). Salicaceae. In Flora of Thailand Vol. 13(1): 51–53.