สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ว่านหาวนอน
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

Kaempferia rotunda L.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูง 10–30 ซม. เหง้ายาว 2.5–3.5 ซม. กลิ่นหอมแรง มีขนตามแผ่นใบด้านล่าง ใบประดับ และกลีบเลี้ยง ใบมี 2–4 ใบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 7–35 ซม. ก้านใบยาว 1–2 ซม. กาบใบยาว 6–10 ซม. ช่อดอกออกจากเหง้าก่อนผลิใบหรือพร้อมใบอ่อน ก้านช่อสั้น กาบประดับยาวได้ถึง 5 ซม. มี 4–12 ดอก บานครั้งละ 1–2 ดอก ใบประดับรูปขอบขนาน ยาว 2–4 ซม. ใบประดับย่อยสั้นและเรียวแคบกว่า กลีบเลี้ยงยาว 3–6 ซม. ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาว 5–5.5 ซม. กลีบดอกรูปแถบ ปลายมีรยางค์ กลีบหลังยาว 4–5 ซม. กลีบข้างสั้นกว่าเล็กน้อย แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปขอบขนาน ยาว 2–4 ซม. กลีบปากสีม่วง มีปื้นสีเหลืองที่โคน ยาวประมาณ 4 ซม. ปลายแฉกลึก อับเรณูยาว 5–8 มม. สันอับเรณูจัก 2 พู มีต่อม 2 ต่อม ยอดเกสรรูปถ้วย ขอบมีขน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ เปราะหอม, สกุล)

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และเขาหินปูน ความสูง 50–1300 เมตร ใบอ่อนและรากกินเป็นผักสด เหง้าและรากทำเป็นครีมใช้ทาแผลสดและใช้ร่วมเป็นยาสมุนไพรหลายขนาน

ชื่อสามัญ  Chengkur

ชื่ออื่น   ว่านดอกดิน, ว่านตูหมูบ (เลย); ว่านนอนหลับ (เชียงใหม่); ว่านส้ม (ขอนแก่น); ว่านหาวนอน (ราชบุรี); เอื้องดิน (ภาคเหนือ)

ว่านหาวนอน: ช่อดอกออกจากเหง้าก่อนผลิใบหรือพร้อมใบอ่อน บานครั้งละ 1–2 ดอก กลีบดอกรูปแถบ กลีบปากปลายแฉกลึก รากอวบหนาเป็นหัวขนาดเล็ก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เอกสารอ้างอิง

Sabu, M. (2006). Zingiberaceae and Costaceae of south India. Indian Association for Angiosperm Taxonomy, Department of Botany, Calicut University, Kerala, India.

Sirirugsa, P. (1991). The genus Kaempferia in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 19: 7–8.