Index to botanical names
Blechnaceae
เฟินขึ้นบนดิน แล้วเลื้อยอิงอาศัยตามลำต้นของต้นไม้หรือโขดหิน เหง้าแข็ง สีเขียว เรียวยาว ปลายเหง้ามีเกล็ดรูปโล่ ยาวประมาณ 1 มม. ใบประกอบชั้นเดียว กว้าง 20–30 ซม. ยาว 40–70 ซม. ก้านใบยาว 10–15 ซม. ใบย่อยมี 10–15 คู่ ใบไม่สร้างสปอร์ กว้าง 2–4.5 ซม. ยาว 10–20 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันเงา เส้นแขนงใบย่อยจำนวนมากเรียงขนานกัน ก้านใบสั้น ใบสร้างสปอร์เรียวแคบ กว้าง 1–5 มม. ยาวได้ถึง 20 ซม. ขอบม้วนขึ้นด้านบน กลุ่มอับสปอร์สีน้ำตาลเหลืองเรียงกระจายทั่วแผ่นใบ ยกเว้นบริเวณเส้นกลางใบและขอบใบพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค พบมากทางภาคใต้ มักขึ้นตามที่โล่งชื้นแฉะ และป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร ใบนำไปฟอกขาว ย้อมสีใช้ประดับ ลำต้นใช้ทำเชือก เครื่องสาน ใบและยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง ลวกจิ้มน้ำพริกหรือใส่แกงเลียงสกุล Stenochlaena J. Sm. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Pteridaceae มี 6 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “stenos” แคบ และ “chlaenion” ผ้าห่ม ตามลักษณะใบสร้างสปอร์และกลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นผืน
ชื่อพ้อง Polypodium palustre Burm.f.
ชื่อสามัญ Swamp fern
ชื่ออื่น นีดิง (มาเลย์-นราธิวาส); ปรงสวน (ภาคกลาง); ปากุ๊มะดิง (มาเลย์-ยะลา); ผักกูดแดง, ผักกูดมอญ (กรุงเทพฯ); ผักยอดแดง (ภาคกลาง); ลำเท็ง (ยะลา); ลำมะเท็ง (นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์)
ลำเท็ง: เหง้าแข็ง ใบประกอบชั้นเดียว ใบสร้างสปอร์เรียวแคบ กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นผืน (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)
Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/
Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1985). Pteridaceae. In Flora of Thailand 3(2): 259–260.