สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ราชาวดี
วันที่ 28 เมษายน 2560

Buddleja asiatica Lour.

Scrophulariaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 ม. มีขนกระจุกสั้นนุ่มหนาแน่นตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 16 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเรียวสอบ ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 0.2–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาวได้ถึง 30 ซม. บางครั้งแยกแขนง ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. หลอดกลีบเลี้ยง ยาว 1.5–4.5 มม. กลีบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกสีขาวหรืออมเขียว หลอดกลีบยาว 2.5–6 มม. กลีบกลม ยาว 1–1.7 มม. ขอบเรียบหรือจักเป็นคลื่น อับเรณูยาวประมาณ 1 มม. รังไข่เกลี้ยงหรือมีเกล็ดรังแค ปลายเรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ยาวได้ถึง 3.5 มม. ผลแห้งแตก รูปรี ยาว 3–5 มม.

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูง 200–2500 เมตร และเป็นไม้ประดับ ดอกขยี้ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ใบและกิ่งอาจมีพิษ ใช้เบื่อปลา ต้นที่เป็นไม้ประดับ ใบส่วนมากรูปไข่ ดอกหนาแน่น มักเข้าใจว่าเป็น B. paniculata Wall. ที่ขอบใบเรียบ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ดอกมีทั้งสีม่วง ชมพู และขาว หลอดกลีบดอกยาว 0.6–1 ซม. รังไข่มีขน และยอดเกสรเพศเมียรูปกระบอง

ชื่อสามัญ  Asian butterfly bush, White butterfly bush, Winter lilac

ชื่ออื่น   เกี๊ยงพาไหล (เชียงใหม่); ไคร้บก (ภาคเหนือ); ไคร้หางหมา (เชียงใหม่); งวงช้าง (ชัยภูมิ); ดอกด้ายน้ำ (เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน); ดอกด้ายหางหมา (เชียงใหม่, ลำปาง); ดอกถ่อน (เลย); ดอกฟู (เชียงใหม่); ดอกแม่ม่าย (กาญจนบุรี); ปวกน้ำ (เชียงราย); ปุนปุ๊ก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); พู่จี่บอย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); โพหนองปี๊ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ฟอน (เลย); มะหาดน้ำ (เชียงใหม่); แม่ม่าย (กาญจนบุรี); ราชาวดีป่า, หญ้าน้ำแป้ง, หัวเถื่อน (เชียงใหม่)

ราชาวดี: ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกเดี่ยว ๆ หรือแยกแขนง ปากหลอดกลีบดอกมีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Li, B. and A.J.M. Leeuwenberg. (1996). Loganiaceae. In Flora of China Vol. 15: 329–337.

Opie, P. and J. Parnell. (2002). Buddlejaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(4): 655–661.