สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



พันตะวัน
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Hibiscus grewiifolius Hassk.

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนรูปดาวประปรายตามกิ่งอ่อน ก้านใบ ก้านดอก ริ้วประดับ และกลีบเลี้ยงด้านนอก หูใบรูปเส้นด้ายขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 6–20 ซม. ปลายแหลมยาว หรือมน โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวประปราย ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1–3 ซม. หนา ริ้วประดับมี 7–9 อัน รูปลิ่มแคบหรือรูปใบหอก ยาว 0.7–1.2 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย หลอดกลีบยาว 1–1.5 ซม. มี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. ปลายเรียวแหลม ด้านในมีขน ดอกรูประฆัง สีเหลือง เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดงก่อนร่วง โคนด้านในมีสีน้ำตาลแดง กลีบรูปไข่กลับ ยาว 6–10 ซม. เส้าเกสรสั้นกว่ากลีบดอก ยาว 2–3.5 ซม. อับเรณูติดตลอดความยาวเส้าเกสร ก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 5 แฉก ผลรูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 2–3 ซม. แตกเป็น 5 ซีก คล้ายมี 10 ช่อง กลีบเลี้ยงยาวกว่าผล มี 4–5 เมล็ดในแต่ละซีก เมล็ดรูปคล้ายไต ยาวประมาณ 5 มม. มีขนยาวหนาแน่น(ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชบา, สกุล)

พบที่จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม และชวา ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ตราด และภาคใต้ที่ระนอง สุราษฎร์ธานี ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ส่วนมากพบในระดับความสูงต่ำ ๆ หรืออาจถึงความสูงประมาณ 1000 เมตร เป็นไม้ประดับ อนึ่ง ใน Flora of China ระบุว่ามีเส้นโคนใบ 3–5 เส้น ซึ่งตัวอย่างของไทยไม่พบลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด

หมายเหตุ  งาช้าง (ระนอง); จงเพียร (สุราษฎร์ธานี); พันตะวัน (ตราด)

พันตะวัน: ใบรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ 7–9 อัน ริ้วประดับมี 7–9 อัน ดอกรูประฆังสีเหลือง โคนด้านในมีสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ติดทน ยาวกว่าผล (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phuphathanaphong, L., P. Siriruksa and G. Nuvongsri. (1989). The genus Hibiscus in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 18: 56–61.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 288.