สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



พันจำ  สกุล
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Vatica L.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น เปลือกเรียบแตกเป็นสะเก็ด มีชันสีขาวหรืออมเหลือง หูใบขนาดเล็กร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงจรดกัน กลีบคู่ในเรียวแคบกว่าเล็กน้อย กลีบดอกบิดเวียน มี 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 15 อัน เรียง 3 วง วงในยาวกว่าวงนอก ก้านชูอับเรณูสั้น โคนแผ่กว้าง อับเรณูมี 4 ช่อง คู่ในสั้นกว่าคู่นอก แกนอับเรณูยื่นเลยอับเรณูเล็กน้อย ไม่มีฐานยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียจัก 3 พู ผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ปลายผลมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกยาว 2 ปีก ปีกสั้น 3 ปีก หรือขยายเล็กน้อยไม่ยาวเป็นปีกทั้ง 5 กลีบ

สกุล Vatica อยู่ภายใต้เผ่า Dipterocarpeae ที่โคนกลีบเลี้ยงในผลเรียงจรดกัน แยกเป็นกลุ่มที่กลีบเลี้ยงไม่ขยายเป็นปีก (sect. Vatica) และกลุ่มที่กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกยาว 2 ปีก ปีกสั้น 3 ปีก (sect. Sunaptea) มีประมาณ 70 ชนิด ในไทยมีประมาณ 15 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “vates” ผู้ทำนายหรือศาสดา


เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 345–370.

Pooma, R. (2002). Further notes on Thai Dipterocarpaceae. Thai Forest Bulletin (Botany) 30: 14.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 178–185.

Smitinand, T., J.E. Vidal and P.H. Hô. (1990). Dipterocarpaceae. Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam. 25: 45–62.

Srinual, A. (2009). Comparative anatomy of the family Dipterocarpaceae in Thailand. Thesis PhD., Khonkaen University. Thailand.



พันจำ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Vatica odorata (Griff.) Symington

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เปลือกสีน้ำตาลเทา กิ่งมีขนรูปดาวสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหรือเกือบเกลี้ยง หูใบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4 มม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 5.5–12 ซม. มีเส้นแขนงใบแซม ก้านใบยาว 0.7–2 ซม. ช่อดอกยาว 2–8 ซม. ช่อแขนงย่อยมี 2–5 ดอก ตาดอกรูปใบหอก ยาว 0.7–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 4 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาวมีปื้นชมพู กลีบรูปใบหอกกลับ ปลายมน ยาว 0.9–1.2 ซม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1.5 มม. แกนอับเรณูเป็นติ่ง ยาวเท่า ๆ อับเรณู รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ รังไข่ ผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ปลายเป็นติ่งแหลม ก้านยาว 2–3 มม. ปีกยาว 2 ปีก ส่วนมากยาว 4–6 ซม. ปีกสั้น 3 ปีก ยาว 0.7–2 ซม.

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และบอร์เนียว ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร มีความผันแปรสูง และยังมีความสับสนระหว่าง V. odorata (Griff.) Symington, V. harmandiana Pierre และ V. cinerea King ที่ข้อมูลส่วนใหญ่ให้เป็นชื่อพ้องของ V. harmandiana Pierre และควรศึกษาเพื่อจัดจำแนกใหม่ ซึ่งการศึกษาในเบื้องต้นอาจยุบรวมเป็น V. odorata sensu lato แล้วแยกเป็นชนิดย่อย (subspecies) ตามเขตการกระจายพันธุ์ ได้แก่ ชนิดย่อยทางภาคใต้ของไทยและคาบสมุทรมลายู ชนิดย่อยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทยรวมกัมพูชา เวียดนาม และชนิดย่อยทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทยรวมลาว ซึ่งมีข้อมูลด้านกายวิภาคของใบสนับสนุนชัดเจน

ชื่ออื่น   ขี้มอด, ชัน (จันทบุรี); ซี (อุบลราชธานี); ซีดง (หนองคาย); ด่าง (น่าน); ตำเสา (ภาคใต้); เต็งดง (หนองคาย); พันจำ (ภาคกลาง); ยางหนู (แพร่); รือเสาะ (มาเลย์-ภาคใต้); สัก (สุราษฎร์ธานี); สักเขา (ตรัง)

พันจำ: V. odorata sensu lato กิ่งมีขนกระจุกรูปดาวสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหรือเกือบเกลี้ยง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 345–370.

Pooma, R. (2002). Further notes on Thai Dipterocarpaceae. Thai Forest Bulletin (Botany) 30: 14.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 178–185.

Smitinand, T., J.E. Vidal and P.H. Hô. (1990). Dipterocarpaceae. Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam. 25: 45–62.

Srinual, A. (2009). Comparative anatomy of the family Dipterocarpaceae in Thailand. Thesis PhD., Khonkaen University. Thailand.