ไม้ล้มลุก อาจสูงได้ถึง 2 ม. ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ ยาว 3–10 ซม. โคนเรียวสอบเป็นก้านใบ ขอบจักฟันเลื่อย ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 50 ซม. ใบประดับบาง รูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. ปลายเรียวแหลม กลีบเลี้ยงบาง ยาวประมาณ 6 มม. ปลายแยกเป็น 4 กลีบขนาดเล็ก ดอกรูปดอกเข็ม สีม่วงอมน้ำเงิน หลอดกลีบยาวประมาณ 8 มม. ปากหลอดมีขนยาว มี 5 กลีบ รูปกลม ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ เกสรเพศผู้ 2 อัน ลดรูป 2 อัน ติดใกล้จุดกึ่งกลางหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูสั้น ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 6 มม. ผลแห้งแยกเป็น 2 ซีก มีกลีบเลี้ยงหุ้ม แต่ละซีกมีเม็ดเดียว
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน ขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน มีสรรพคุณแก้การอักเสบ ความดัน หอบหืด แผลเรื้อรัง
สกุล Stachytarpheta Vahl มีประมาณ 95 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาเขตร้อน ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “stachys” ช่อดอกแบบช่อเชิงลด และ “tarphys” แน่น ตามลักษณะของช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีดอกหนาแน่น
|
ชื่อพ้อง Verbena jamaicensis L.
|
|
ชื่อสามัญ Blue porterweed, Common snake weed, Jamaica vervain
|
ชื่ออื่น เจ๊กจับกบ (ตราด); เดือยงู, พระอินทร์โปรย (ชุมพร); พันงูเขียว (ภาคกลาง); ลังถึ่งดุ้ก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); สารพัดพิษ, สี่บาท (ภาคกลาง); หญ้าหนวดเสือ (ภาคเหนือ); หญ้าหางงู (ภาคใต้)
|
|
พันงูเขียว: ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ขอบจักฟันเลื่อย ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน รูปดอกเข็ม ปากหลอดมีขนยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|