สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



พะยูง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Dalbergia cochinchinensis Pierre

Fabaceae

ไม้ต้น สูง 15–30 ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนละเอียด ใบประกอบยาวได้ถึง 25 ซม. มีใบย่อย 7–9 ใบ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 3–10 ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือกลม ก้านยาว 2–5 มม. ช่อดอกแยกแขนงออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบที่ปลายกิ่ง ยาว 10–20 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 5 มม. ดอกสีขาว กลีบกลางรูปกลม ยาวประมาณ 3.5 มม. ก้านกลีบยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบปีกและกลีบคู่ล่างรูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ กลีบกลาง เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันกลุ่มเดียว รังไข่เกลี้ยง ก้านมีขน ฝักรูปขอบขนานถึงรูปแถบ ยาว 4.5–8 ซม. มี 1–4 เมล็ด สีน้ำตาลแดง รูปคล้ายไต กว้างประมาณ 6 มม.

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบมากทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงระดับต่ำ ๆ เป็นไม้ที่มีราคาสูง และเชื่อว่าเป็นไม้มงคล เป็นพืชอนุรักษ์ในบัญชีที่ 2 ของ CITES เนื้อไม้คล้ายกับชิงชัน D. oliveri Gamble ex Prain แต่ชิงชันมีใบย่อยมากกว่า ดอกสีม่วง ขนาดใหญ่กว่า และส่วนที่หุ้มเมล็ดหนาชัดเจน

ชื่อสามัญ  Siamese rosewood

ชื่ออื่น   กระยง, กระยุง (Khmer-Surin); ขะยุง (Ubon Ratchathani); แดงจีน (Prachin Buri); ประดู่ตม, ประดู่น้ำ (Chanthaburi); ประดู่ลาย (Chon Buri); ประดู่เสน (Trat); พะยูง (ทั่วไป); พะยูงไหม (Saraburi); หัวลีเมาะ (Chinese)

พะยูง: ปลายใบแหลม โคนมนหรือกลม ช่อดอกแยกแขนง ฝักรูปขอบขนานถึงรูปแถบ (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี)

เอกสารอ้างอิง

Niyomdham, C. (2002). An account of Dalbergia (Leguminosae-Papilionoideae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 30: 124–166.

Niyomdham, C., P.H. Hô., P. dy Phon and J.E. Vidal. (1997). Leguminoseae-Papilionoideae, Dalbergieae. Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam. 29: 3–54.